วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

เหรียญผ้าป่าชาวย้อม หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว



"เหรียญแห่งความภูมิใจในฐานะลูกชาย ที่มีต่อพ่อในความศรัทธาที่จะสร้างบุญใหญ่ครั้งหนึ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานกรรมการดำเนินการและจัดทำเหรียญรุ่นนี้เพื่อถวายผ้าป่า ณ วัดกลางบางแก้ว เมื่อปี พศ.2519"

เหรียญผ้าป่าชาวย้อม หลวงปู่เพิ่ม (เหรียญหลวงปู่เพิ่มรุ่นที่เจ็ด) วัดกลางบางแก้วเหรียญประสบการณ์ซึ่งหายากขึ้นเรื่อยๆ วันหน้าจะหาตัวจริงดูได้ยากแล้วครับ

เหรียญรุ่นที่เจ็ดสร้างขึ้น เดือนพฤษภาคม 2519 ปีเดียวกับเหรียญรุ่นที่หกห่างกันเพียงไม่กี่เดือน โดย “คณะชาวย้อม” โรงงานทอผ้าไทยโทเรไทม์มิลล์ ซึ่งมีโรงงานใกล้กับวัดกลางบางแก้ว คนงานในแผนกย้อมมีความศรัทธาเลื่อมใสหลวงปู่เพิ่ม จึงร่วมกันจัดผ้าป่าสามัคคีเพื่อทอดถวายหลวงปู่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2519 โดยในงานนี้ได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกมอบให้ผู้ทำบุญส่วนหนึ่ง และถวายให้วัดเอาไว้ส่วนหนึ่ง

ผู้ดำเนินงานชื่ออะไรผู้เขียนจำไม่ได้ เสียแล้ว ได้ติดต่อมายังผู้เขียนว่าจะสร้างเหรียญอย่างไรจึงสวยงาม ผู้เขียนจึงรับปากว่าจะมอบให้ อาจารย์อวบ สาณะเสน เป็นผู้ออกแบบให้ และต่อมาได้ติดต่ออาจารย์อวบ สาณะเสน เป็นผู้ออกแบบเหรียญรุ่นนี้โดยใส่ลวดลายกนกเอาไว้สองข้างของดอกบัวตรงกลาง ใต้รูปหลวงปู่ซึ่งห่มพาดสังฆาฏิด้านหน้าเอียงสี่สิบห้าองศา ขนาดของเหรียญเป็นเหรียญรูปไข่ขนาดกลางพอเหมาะ เมื่อออกแบบเสร็จแล้วได้มอบให้ช่างสนั่น โรงปั๊มข้างวัดเครือวัลย์ ธนบุรี เป็นผู้แกะแบบพิมพ์และปั๊มเหรียญ

ลักษณะเหรียญด้านหน้าเป็นรูปหลวง ปู่ครึ่งองค์ เอียงข้างห่มพาดสังฆาฏิมีดอกบัว และลายกนกสองข้าง ไม่มีอักษรใด ๆ ส่วนด้านหลังเป็นยันต์นะดมพุทธายะ แบบพุทธซ้อน แต่ขึ้นยอดหลายชั้นตรงกลางขอบข้างด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า “พระพุทธวิถีนายกเพิ่ม ปุญวสโน วัดกลางบางแก้ว” ส่วนด้านล่างมีอักษรเขียนตามแนวโค้งขอบเหรียญว่า “ที่ระลึกงานทอดผ้าป่าสามัคคีชาวย้อม 1 พ.ค. 19”

เหรียญรุ่นนี้ปั๊ม เป็นเนื้อนวโลหะ 99 เหรียญ มีเลขตอกเรียงลำดับเหรียญทุกเหรียญ เนื้อทองแดงจำนวน 2,000 เหรียญ มอบให้หลวงปู่ปลุกเสกเป็นเวลานานก่อนงานทอดผ้าป่า เสร็จแล้วแจกให้กรรมการและผู้ร่วมทอดผ้าป่าที่เหลือจึงมอบให้เป็นสมบัติของ วัด

ในงานทอดผ้าป่าครั้งนี้คณะกรรมการได้อัดภาพสีมีอักษรไทยเขียนไว้บนภาพ มอบให้หลวงปู่ปลุกเสกแจกกับผู้ร่วมงานทำบุญอีกจำนวนหนึ่งด้วย

เหรียญ รุ่นที่เจ็ดนี้นับว่ามีประสบการณ์ทางด้านความศักดิ์สิทธิ์มากอีก เหรียญหนึ่ง คนงานโรงงานไทโทเรฯที่ได้รับแจกไป รอดพ้นจากอันตรายอันน่าหวาดเสียวมาหลายต่อหลายราย ส่วนใหญ่จะมีพุทธคุณทางเมตตาและแคล้วคลาด

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

พระเครื่องเชียงแสน วัดทับคล้อ

เชิญร่วมบูชาพระเครื่องรูปหล่อลอยองค์ ปางสมาธิ เชียงแสน ขนาดหน้าตัก 1.5 ซม. เพื่อนำปัจจัยไปดำเนินการก่อสร้าง "พระพุทธบารมี" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนหน้าตัก 16 ศอก ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ณ วัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร ซึ่งจะประกอบพิธีพุทธาภิเษกโดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ) ในระหว่างช่วงปริวาสภายใน เป็นระยะเวลา 9 วัน แล้วจะเปิดให้ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทุกท่านได้บูชาพระเครื่องนี้ หลังจากเสร็จพิธีอยู่ปริวาส



โดยรุ่นที่ทำการจัดสร้างประกอบด้วย 2 รุ่นคือ

- เนื้อทองเหลือง มีตัว ”มะ” ที่ใต้ฐานองค์พระ และพระ “พระพุทธบารมี” วัดทับคล้อ พิจิตร (ที่กล่อง) บูชาองค์ละ 100 บาท จำนวนอย่างละ 10,000 องค์

- เนื้อทองเหลือง มีตัว ”มะ” ที่ใต้ฐานองค์พระ มีกริ่ง และพระนาม “พระพุทธบารมี” วัดทับคล้อ พิจิตร (ที่กล่อง) บูชาองค์ละ 150 บาท จำนวนอย่างละ 10,000 องค์

สำหรับศิษยานุศิษย์และทุกท่านที่สนใจจะร่วมบูชา สามารถสั่งจองได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ที่ คุณพันธ์ชัย เลาหะรัตน์ (พี่ช้าง) หรือที่อีเมลล์ คุณศรินพรรณ์ ธรรมศิรารักษ์ (คุณแอ้) t_siriphan@hotmail.com
ร้าน 969 ข้างโรบินสันศรีราชา และร้าน A&N Dry clean ศรีราชา
หรือสั่งจองผ่านทางเว็บไซท์วัดทับคล้อดอทคอม www.watthapklo.com

ขั้นตอนการสั่งจอง สำหรับศิษยานุศิษย์และทุกท่านที่สนใจจะร่วมสั่งจอง ดังนี้

กรุณาโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรบินสันศรีราชา ชื่อบัญชี คุณพันธ์ชัย เลาหะรัตน์ หมายเลขบัญชี 814-231057-1 แล้วแจ้งชื่อและที่อยู่ผู้รับมายัง อีเมลล์ คุณศรินพรรณ์ ธรรมศิรารักษ์ (คุณแอ้) t_siriphan@hotmail.com
หรือท่านสามารถจะร่วมบูชาได้โดยตรงที่วัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร มีให้บูชาที่ปู่แหวง
หรือ บูชาได้โดยตรงที่ ร้าน 969 ข้างโรบินสันศรีราชา และร้าน A&N Dry clean ศรีราชา

* เริ่มส่งพระได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป
* กรณีจัดส่งทางไปรษณีย์ จะคิดค่าใช้จ่าย จะแจ้งราคาให้ทราบอีกครั้งภายหลัง (กำลังรอเช็คราคาค่าจัดส่ง)

* ข้อมูลจากเว็บ www.watthapklo.com

พระบูชาเชียงแสน วัดทับคล้อ



เชิญร่วมสั่งจองพระบูชารูปหล่อลอยองค์ ปางสมาธิ เชียงแสน เนื้ออัลปัลก้า ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว เพื่อนำปัจจัยไปดำเนินการก่อสร้าง "พระพุทธบารมี" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนหน้าตัก 16 ศอก ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ณ วัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร ซึ่งจะประกอบพิธีพุทธาภิเษกโดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ) เจ้าอาวาสวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร โดยรุ่นที่ทำการจัดสร้าง โดยการเปิดให้สั่งจอง ประกอบด้วย 2 รุ่นคือ

- หน้าตัก องค์พระขนาด 9 นิ้ว เนื้ออัลปาก้า มีพระนาม “พระพุทธบารมี” ที่ฐานองค์พระ บูชาองค์ละ 15,000 บาท (จำนวนจัดสร้างตามการสั่งจอง)

- หน้าตัก องค์พระขนาด 5 นิ้ว เนื้ออัลปาก้า มีพระนาม “พระพุทธบารมี” ที่ฐานองค์พระ บูชาองค์ละ 6,000 บาท (จำนวนจัดสร้างตามการสั่งจอง)

* สำหรับศิษยานุศิษย์และทุกท่านที่สนใจจะร่วมบูชา สามารถสั่งจองได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณพันธ์ชัย เลาหะรัตน์ (พี่ช้าง) เบอร์โทรศัพท์ 081-576-9964

* ข้อมูลจากเว็บ www.watthapklo.com

ความเป็นมาพระเครื่องวัดทับคล้อ

ความเป็นมาการจัดสร้างพระเครื่อง พระบูชา สืบสานพระพุทธศาสนา ของทางวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร เนื่องด้วยความศรัทธาและความยึดมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบกับความห่วงใยที่มีต่อลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ) จึงได้สร้างพระเครื่อง ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถพกติดตัวได้ เพื่อเป็นสิริมงคลเป็นที่เคารพสักการะได้ตลอดเวลาที่ประกอบหน้าที่การงานหรือการเดินทาง โดยนำวัตถุซึ่งเป็นมงคลอันประกอบด้วย ดอกไม้ บายศรี เถ้าธูป ที่ผ่านการบูชาสวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ๑๐๘ จบ พร้อมการเจริญพระกรรมฐานเป็นประจำทุกวันมาสร้างเพื่อเป็นพุทธคุณ พระเครื่องพระบูชาทุกรุ่นที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ) ได้จัดสร้างไม่มีการจำหน่าย ท่านแจกจ่ายให้ลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ที่ได้มาปฏิบัติธรรมกรรมฐาน และร่วมถวายแรงก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดทับคล้อตั้งแต่อดีต เช่น งานธุดงค์วัตรประจำปี งานก่อสร้างห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี และตำหนักสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี งานทอดกฐิน เป็นต้น จนกล่าวได้ว่าการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดทับคล้อ ไม่ต้องเสียค่าแรงเลย ล้วนเกิดจากความศรัทธาของศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันถวายแรงบูชาเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา โดยพระเครื่องพระบูชาส่วนหนึ่งที่แพร่หลาย ดังนี้

พระพิมพ์ปรกโพธิ์ - จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ ได้มาอยู่ที่วัดทับคล้อ(สวนพระโพธิสัตว์) มีการจัดสร้างทั้งเนื้อดินและเนื้อว่าน โดยพุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมแบบพระสมเด็จ ด้านหน้าองค์พระปฏิมาประทับนั่งปางสมาธิใต้ซุ้มโพธิ์ ๑๒ ใบบนฐาน ๓ ชั้น ภายในซุ้มครอบแก้ว ด้านหลังองค์พระเป็นตัวหนังสือ ๕ แถว ปรากฏข้อความว่า สวนพระโพธิสัตว์ ต.ทับคล้อ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ๒๕๒๔

พุทธกวัก - จัดสร้างขึ้นครั้งแรก เมื่อพ.ศ. xxxx ขณะนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ พักอยู่ที่โบสถ์หลังเก่า วัดมงคลทับคล้อ ตำบลทับคล้อ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

พระพิมพ์ปรกโพธิ์ รุ่น ๖๐ ปี - จัดสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื่องในวันครบรอบ ๖๐ ปีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ และแจกในงานวางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์วัดทับคล้อ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยพุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมแบบพระสมเด็จ ด้านหน้าองค์พระปฏิมาประทับนั่งปางสมาธิใต้ซุ้มโพธิ ๑๖ ใบบนฐาน ๓ ชั้น ภายในซุ้มครอบแก้ว ด้านหลังองค์พระเป็นยันต์และตัวหนังสือ " อายุ ๖๐ ปี " ปรากฏอยู่ด้านใต้ยันต์

พระปางเปิดโลก - จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ สำหรับแจกในงานอยู่ธุดงค์วัตร ปฏิบัติกัมฐาน โดยพุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบสามเหลี่ยม ด้านหน้าองค์พระปฏิมาประทับยืนบนฐานบัวสองชั้น แขนทั้งสองข้างแนบลำพระองค์ ฝ่าพระหัตถ์แผ่หันออกด้านหน้า หรือที่เรียกว่า " พระปางเปิดโลก " ด้านหลังองค์พระเป็นสัญลักษณ์ของวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) เป็นรูปช้างสองตัวชูองค์พระเจดีย์ที่เปล่งรัศมี

พระปางปฐมเทศนา - จัดสร้างเมื่อคราวที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ กลับจากเยือนประเทศอินเดีย

พระพิมพ์ปรกโพธิ์ รุ่น ๗๒ ปี - จัดสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เนื่องในวันครบรอบ ๗๒ ปีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ โดยพุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมแบบพระสมเด็จ ด้านหน้าองค์พระปฏิมาประทับนั่งปางสมาธิใต้ซุ้มโพธิ์ ๑๖ ใบบนฐาน ๓ ชั้น ภายในซุ้มครอบแก้ว ด้านหลังองค์พระเป็นสัญลักษณ์ของวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) เป็นรูปช้างสองตัวชูองค์พระเจดีย์ที่เปล่งรัศมีและเลขไทย ๗๒ ปรากฏอยู่ด้านใต้สัญลักษณ์

ขัตตุคาม-รามเทพ วัดทับคล้อ ๒๕๕๐ รุ่นสร้างโบสถ์ - อธิษฐานจิตพุทธาภิเษก โดย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ และประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ภายในพระอุโบสถวัดทับคล้อ พิจิตร โดยลักษณะเป็นพิมพ์กลม ด้านหน้าเป็นองค์ท้าวรามเทพประทับนั่ง ด้านล่างเขียนว่า "วัดทับคล้อ พิจิตร" ด้านหลังองค์พระเป็นสัญลักษณ์ของวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) เป็นรูปช้างสองตัวชูองค์พระเจดีย์ที่เปล่งรัศมีและเขียนว่า "สร้างโบสถ์ ๒๕๕๐" ปรากฏอยู่ด้านใต้สัญลักษณ์

* หมายเหตุ : ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงพระเครื่องรุ่นต่างๆ ส่วนหนึ่งของทางวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร ที่มีหลักฐานรับรองการยืนยันการจัดสร้างโดยทางวัดเองที่ชัดเจนเป็นลายลักอักษรเท่านั้น ยังมีพระเครื่องอีกหลายๆ รุ่นที่ยังไม่ได้นำมาลงรายละเอียดไว้ ณ ที่นี่ เนื่องจากยังไม่ได้มีการยืนยันความชัดเจนจากผู้ดูแลการจัดสร้างพระเครื่องของทางวัด หรือผู้รู้ข้อมูลทั้งหมดครับ และนอกจากนี้ยังมีพระเครื่องอีกหลายรุ่นที่ทางศิษยานุศิษย์พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล ได้ขออนุญาติจัดสร้างเอง แล้วนำมาให้ท่านปลุกเสก หรือประกอบพิธีพุทธาภิเษกให้อีกส่วนหนึ่ง สำหรับพระเครื่องวัดทับคล้อ (สวนโพธิ์) พิจิตร รุ่นอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ที่ผมมีสะสมไว้ ขออนุญาติไม่นำมาเผยแพร่ ณ ที่นี่เพราะเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดของศิษยานุศิษย์ และบุคคลทั่วไปที่เข้ามาชม หรือหาข้อมูลไปอ้างอิง เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้รู้ที่มาที่ไปจริงๆ ทั้งหมดทุกรุ่น ได้รับฟังมาเพียงคำบอกเล่าจากศิษย์กับศิษย์ด้วยกันเท่านั้นเอง ดังนั้นหากผมนำมาเผยแพร่ไปอาจจะเป็นการผิดศีลมุสา..ไปก็ได้ อาจจะโดยไม่ตั้งใจ... (ถ้ามีโอกาสได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ยืนยัน ชัดเจน ก็จะนำมาเสนอในโอกาสถัดไป)

* ขอบคุณข้อมูลจากเว็บวัดทับคล้อดอทคอม www.watthapklo.com

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมู เขี้ยวหมี

เขี้ยว งา กะลา เขา เป็นคำพูดที่พูดกันมานมนาน ซึ่งหมายถึง วัสดุที่นำมาสร้างเครื่องรางของขลังนั่นเอง

เครื่องรางที่สร้างจากเขี้ยวสัตว์นั้น ส่วนใหญ่จะเน้น เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมูป่า เป็นหลัก ส่วนที่สร้างจากงา คงเป็นแค่งาช้างเท่านั้น จากกะลามะพร้าว ส่วนใหญ่จะใช้กะลามะพร้าวที่มีตาเดียว แต่ถ้าเจอกะลามะพร้าวที่มีห้าตา สิบตา ก็ยิ่งดี ถือว่าเป็นของหายาก ส่วนจากเขาสัตว์นั้นจะเน้นไปทาง เขาวัวกระทิง เขาควาย และเขากวางเป็นหลัก วัตถุที่นำมาสร้างเครื่องรางของขลังเหล่านี้ เชื่อกันว่ามีความขลังในตัวอยู่แล้ว ยิ่งนำมาทำพิธีปลุกเสกด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความขลังเป็นทวีคูณขึ้นหลายเท่า

วันนี้ ผู้เขียนขออนุญาตบรรยายเรื่อง เขี้ยว เรื่องเดียวอีกสักครั้ง จำได้ว่า ชั่วโมงเซียน ของหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก" ผู้เขียนได้เคยบรรยายเรื่องเขี้ยวไว้แล้ว เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันกลับมีผู้นิยมสนใจเรื่องเครื่องรางของขลังกันมากมาย ผู้เขียนจึงนำข้อมูลมาเสนอให้ อาจช่วยเพิ่มเติมความรู้ ความเข้าใจ และเป็นวิทยาทานได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

เขี้ยว นับว่าเป็นเครื่องรางของขลังที่ได้รับความนิยมสูงสุดชนิดหนึ่ง จากเครื่องรางยอดนิยมทั่วๆ ไป พระเกจิอาจารย์บางท่านที่นำเขี้ยวมาแกะสร้างเครื่องรางของขลัง จนได้รับความนิยม ให้นั่งอยู่แถวหน้า ประเภทเครื่องรางของขลังยอดนิยม เช่น เขี้ยวเสือแกะของหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน และเขี้ยวเสือแกะของอาจารย์เฮง วัดเขาดิน เป็นต้น เขี้ยวสัตว์นั้นที่จริงมีด้วยหลายประเภท ที่นิยมนำมาสร้างเครื่องรางของขลังกัน แต่ที่จะเขียนถึงคราวนี้ จะเน้นเฉพาะ เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมูป่าเท่านั้น เพราะทั้งสามเขี้ยวนี้ เป็นวัสดุที่ทั้งพระเกจิอาจารย์ และฆราวาส นิยมนำมาสร้างวัตถุมงคลกันมาก และได้รับความนิยมกันแทบทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญ ปัญหาอยู่ที่มีผู้ซักถาม และถกเถียงกันอยู่บ่อย เกี่ยวกับการแยกประเภทของเขี้ยวว่า เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมู นั้นแตกต่างกันอย่างไร บางท่านยังไม่ทราบ หลายท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว และอีกหลายท่านก็ยังคงเดาๆ อยู่

วันนี้ เรามาทำความเข้าใจกัน ผู้เขียนเองยอมรับว่า ไม่ได้เก่งกาจอะไรมากเรื่องเครื่องรางของขลัง แต่เป็นคนที่ชอบวัตถุมงคลประเภทเครื่องรางเอามากๆ คนหนึ่ง เลยทีเดียว ชอบค้นคว้า ค้นตำราต่างๆ ถามผู้รู้ ผู้ชำนาญ เคยซื้อผิด ซื้อถูก ทุกอย่างผู้เขียนถือว่า เป็นครูเท่านั้น เมื่อได้ความรู้อะไรมาบ้างที่เห็นว่าสำคัญ และถูกต้องก็ถ่ายทอดกันต่อๆ ไป จะได้ไม่สูญหายไปจากวงการ

เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมู ถ้าเป็นอาจารย์เดียวกันสร้าง เขี้ยวเสือจะได้รับความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่ง รองมาก็คือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมู เป็นอันดับท้าย คงเป็นความเชื่อเรื่องบารมีมหาอำนาจ ของเขี้ยวสัตว์แต่ละชนิดก็ได้ เสือซึ่งถือว่าเป็นเจ้าป่า และหายาก ฆ่าก็ยาก หมียังพอเห็นมากกว่า ส่วนหมูป่านั้นมีจำนวนมากมาย แต่ถ้าเป็นหมูที่มีเขี้ยวตัน หรือเขี้ยวยาว ใหญ่ ก็ถือว่าหาชมได้ยากเช่นกัน ดังคำโบราณที่กล่าวว่า ถ้าจะเล่นเขี้ยวหมู ต้องเล่นเขี้ยวตัน จะเล่นเขี้ยวเสือต้องเล่นเขี้ยวโปร่ง (โปร่งฟ้า) ก่อนจะแยกแต่ละประเภทของเขี้ยวนั้น อยากพูดถึงลักษณะของการนำเขี้ยวมาแกะ ว่ามีลักษณะใดบ้าง คือมีทั้งที่แกะเต็มเขี้ยว ครึ่งเขี้ยว หรือ นำเอาเขี้ยวมาผ่าเป็นซีก แกะเป็นชิ้นเล็กๆ ก็มี

เต็มเขี้ยว หมายถึง เขี้ยวที่ถูกถอดรากออกจากเหงือกทั้งอัน ซึ่งยังมีปลายเขี้ยวแหลม ยาวอยู่ เช่น เสือ หลวงพ่อนก วัดสังกะสี

ครึ่งเขี้ยว หมายถึง เขี้ยวที่ถูกถอดรากออกจากเหงือกทั้งอัน แล้วนำมาตัดแบ่งครึ่ง ส่วนใหญ่นิยมเอาครึ่งแถบที่เป็นรากเขี้ยวมาแกะ เช่น เสือ หลวงพ่อปาน คลองด่าน ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป

เขี้ยวซีก หมายถึง การเอาเขี้ยวเต็มมาผ่าแบ่งเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาแกะ เป็นวัตถุมงคล อีกทีหนึ่ง เช่น เสือเขี้ยวซีก หลวงพ่อปาน คลองด่าน หรือ เสือ อาจารย์เฮง วัดเขาดิน

การแกะวัตถุมงคลจากเขี้ยวซีกชิ้นเล็กๆ นั้น บางท่านอาจเข้าใจผิดว่า แกะมาจากปลายเขี้ยว ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก เพราะปลายเขี้ยวมีลักษณะแข็งและกรอบ ถ้าโดนแกะก็จะปริแตกไม่เป็นรูปทรง ความจริงแล้ว เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมู มีลักษณะที่แยกออกจากกันได้ชัดเจน ผู้เขียนจะอธิบายไปทีละขั้น จะได้เข้าใจง่าย ไม่สับสน โดยดูรูปภาพประกอบจะเห็นได้ชัดเจน

เขี้ยวเสือ นั้นมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของตัวเสือ เขี้ยวจะยาว เรียว ปลายแหลมคม โค้งพอประมาณ ดูจากปลายเขี้ยวจะเห็นเหลี่ยม เป็นร่องเล็กๆ อยู่แถบละสองร่อง ทั้งสองข้าง วิ่งเป็นแนวร่องเข้ามายังตัวเขี้ยวชัดเจน เราเรียกกันว่าร่องเส้นเลือด และถ้านำเขี้ยวเสือมาตัดแบ่งครึ่ง เราจะเห็นรูตรงกลางเป็นรูกลวงโปร่งไปสุดโคนเขี้ยว ซึ่งจะมีลักษณะกลม หรือกลมรีเล็กน้อย กว้างประมาณ ๒๐-๓๐% ของพื้นที่หน้าเขี้ยวที่เราตัดครึ่ง และจะมีคลื่นรัศมีวิ่งรอบปากรูเขี้ยวซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน

เขี้ยวหมี นั้นมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่เช่นกัน เขี้ยวหมีเมื่อดูภายนอกลักษณะทั่วไปคล้ายเขี้ยวเสือมาก คือมีความเรียว โค้งยาว ปลายแหลมคม สิ่งที่แตกต่างจากเขี้ยวเสือนั้นคือปลายเขี้ยวหมี ก็มีร่องเลือดเหมือนกัน แต่เป็นแบบเส้นเลือดสีน้ำตาลแดงวิ่งรอบเป็นวงเดือน จากปลายเขี้ยวเข้ามาด้านใน เป็นสิบๆ รอบ ซึ่งเรามองเห็นด้วยตาเปล่าได้ชัดเจน และเมื่อเรานำเขี้ยวมาตัดผ่าแบ่งครึ่ง ก็พบรูกลวงโปร่งเช่นเดียวกันเหมือนกับเขี้ยวเสือ แต่รูของเขี้ยวหมีจะกว้างกว่ารูของเขี้ยวเสือมาก บางเขี้ยวเจอรูกว้าง ๗๐-๘๐% ของหน้าเขี้ยวเลยทีเดียว

เขี้ยวหมูป่า มีลักษณะที่แตกต่างจากเขี้ยวเสือ และเขี้ยวหมี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนมาก เขี้ยวหมูป่านั้น มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีลักษณะค่อนข้างแบนเป็นเหลี่ยมโค้งยาว ปลายแหลม โคนเขี้ยวเป็นรูกลวงลึกเข้าไปด้านในเกือบสุดปลายเขี้ยว เขี้ยวหมูป่าบางเขี้ยวนั้นยาวเอามากๆ จนเกือบจะเป็นครึ่งวงกลมเลยก็มี โดยทั่วไปเขี้ยวหมูป่าจะเป็นเขี้ยวกลวงเกือบทั้งนั้น จะหาเขี้ยวแบบตันๆ นั้นยากมาก และเมื่อตัดเขี้ยวแบ่งครึ่งออกจากกัน ก็จะเห็นรูของเขี้ยวหมูป่าเป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่เหมือนกับเขี้ยวเสือกับเขี้ยวหมี ที่มีรูลักษณะกลม หรือรูปวงรี

สรุปได้ว่า เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมูป่า มีลักษณะที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาแล้วก็สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน เมื่อท่านผู้อ่านมีโอกาสได้เครื่องรางของขลังประเภทเขี้ยวเหล่านี้ ก็ควรใช้ดุลพินิจ พิจารณาข้อมูลของผู้เขียน อาจจะช่วยท่านได้บ้างไม่มากก็น้อย

* ข้อมูลจากเว็บคม-ชัด-ลึก คุณนุ เพชรรัตน์ คลิ๊กที่นี่