วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

พระเครื่องเชียงแสน วัดทับคล้อ

เชิญร่วมบูชาพระเครื่องรูปหล่อลอยองค์ ปางสมาธิ เชียงแสน ขนาดหน้าตัก 1.5 ซม. เพื่อนำปัจจัยไปดำเนินการก่อสร้าง "พระพุทธบารมี" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนหน้าตัก 16 ศอก ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ณ วัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร ซึ่งจะประกอบพิธีพุทธาภิเษกโดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ) ในระหว่างช่วงปริวาสภายใน เป็นระยะเวลา 9 วัน แล้วจะเปิดให้ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทุกท่านได้บูชาพระเครื่องนี้ หลังจากเสร็จพิธีอยู่ปริวาส



โดยรุ่นที่ทำการจัดสร้างประกอบด้วย 2 รุ่นคือ

- เนื้อทองเหลือง มีตัว ”มะ” ที่ใต้ฐานองค์พระ และพระ “พระพุทธบารมี” วัดทับคล้อ พิจิตร (ที่กล่อง) บูชาองค์ละ 100 บาท จำนวนอย่างละ 10,000 องค์

- เนื้อทองเหลือง มีตัว ”มะ” ที่ใต้ฐานองค์พระ มีกริ่ง และพระนาม “พระพุทธบารมี” วัดทับคล้อ พิจิตร (ที่กล่อง) บูชาองค์ละ 150 บาท จำนวนอย่างละ 10,000 องค์

สำหรับศิษยานุศิษย์และทุกท่านที่สนใจจะร่วมบูชา สามารถสั่งจองได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ที่ คุณพันธ์ชัย เลาหะรัตน์ (พี่ช้าง) หรือที่อีเมลล์ คุณศรินพรรณ์ ธรรมศิรารักษ์ (คุณแอ้) t_siriphan@hotmail.com
ร้าน 969 ข้างโรบินสันศรีราชา และร้าน A&N Dry clean ศรีราชา
หรือสั่งจองผ่านทางเว็บไซท์วัดทับคล้อดอทคอม www.watthapklo.com

ขั้นตอนการสั่งจอง สำหรับศิษยานุศิษย์และทุกท่านที่สนใจจะร่วมสั่งจอง ดังนี้

กรุณาโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรบินสันศรีราชา ชื่อบัญชี คุณพันธ์ชัย เลาหะรัตน์ หมายเลขบัญชี 814-231057-1 แล้วแจ้งชื่อและที่อยู่ผู้รับมายัง อีเมลล์ คุณศรินพรรณ์ ธรรมศิรารักษ์ (คุณแอ้) t_siriphan@hotmail.com
หรือท่านสามารถจะร่วมบูชาได้โดยตรงที่วัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร มีให้บูชาที่ปู่แหวง
หรือ บูชาได้โดยตรงที่ ร้าน 969 ข้างโรบินสันศรีราชา และร้าน A&N Dry clean ศรีราชา

* เริ่มส่งพระได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป
* กรณีจัดส่งทางไปรษณีย์ จะคิดค่าใช้จ่าย จะแจ้งราคาให้ทราบอีกครั้งภายหลัง (กำลังรอเช็คราคาค่าจัดส่ง)

* ข้อมูลจากเว็บ www.watthapklo.com

พระบูชาเชียงแสน วัดทับคล้อ



เชิญร่วมสั่งจองพระบูชารูปหล่อลอยองค์ ปางสมาธิ เชียงแสน เนื้ออัลปัลก้า ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว เพื่อนำปัจจัยไปดำเนินการก่อสร้าง "พระพุทธบารมี" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนหน้าตัก 16 ศอก ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ณ วัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร ซึ่งจะประกอบพิธีพุทธาภิเษกโดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ) เจ้าอาวาสวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร โดยรุ่นที่ทำการจัดสร้าง โดยการเปิดให้สั่งจอง ประกอบด้วย 2 รุ่นคือ

- หน้าตัก องค์พระขนาด 9 นิ้ว เนื้ออัลปาก้า มีพระนาม “พระพุทธบารมี” ที่ฐานองค์พระ บูชาองค์ละ 15,000 บาท (จำนวนจัดสร้างตามการสั่งจอง)

- หน้าตัก องค์พระขนาด 5 นิ้ว เนื้ออัลปาก้า มีพระนาม “พระพุทธบารมี” ที่ฐานองค์พระ บูชาองค์ละ 6,000 บาท (จำนวนจัดสร้างตามการสั่งจอง)

* สำหรับศิษยานุศิษย์และทุกท่านที่สนใจจะร่วมบูชา สามารถสั่งจองได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณพันธ์ชัย เลาหะรัตน์ (พี่ช้าง) เบอร์โทรศัพท์ 081-576-9964

* ข้อมูลจากเว็บ www.watthapklo.com

ความเป็นมาพระเครื่องวัดทับคล้อ

ความเป็นมาการจัดสร้างพระเครื่อง พระบูชา สืบสานพระพุทธศาสนา ของทางวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร เนื่องด้วยความศรัทธาและความยึดมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบกับความห่วงใยที่มีต่อลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ) จึงได้สร้างพระเครื่อง ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถพกติดตัวได้ เพื่อเป็นสิริมงคลเป็นที่เคารพสักการะได้ตลอดเวลาที่ประกอบหน้าที่การงานหรือการเดินทาง โดยนำวัตถุซึ่งเป็นมงคลอันประกอบด้วย ดอกไม้ บายศรี เถ้าธูป ที่ผ่านการบูชาสวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ๑๐๘ จบ พร้อมการเจริญพระกรรมฐานเป็นประจำทุกวันมาสร้างเพื่อเป็นพุทธคุณ พระเครื่องพระบูชาทุกรุ่นที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ) ได้จัดสร้างไม่มีการจำหน่าย ท่านแจกจ่ายให้ลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ที่ได้มาปฏิบัติธรรมกรรมฐาน และร่วมถวายแรงก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดทับคล้อตั้งแต่อดีต เช่น งานธุดงค์วัตรประจำปี งานก่อสร้างห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี และตำหนักสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี งานทอดกฐิน เป็นต้น จนกล่าวได้ว่าการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดทับคล้อ ไม่ต้องเสียค่าแรงเลย ล้วนเกิดจากความศรัทธาของศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันถวายแรงบูชาเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา โดยพระเครื่องพระบูชาส่วนหนึ่งที่แพร่หลาย ดังนี้

พระพิมพ์ปรกโพธิ์ - จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ ได้มาอยู่ที่วัดทับคล้อ(สวนพระโพธิสัตว์) มีการจัดสร้างทั้งเนื้อดินและเนื้อว่าน โดยพุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมแบบพระสมเด็จ ด้านหน้าองค์พระปฏิมาประทับนั่งปางสมาธิใต้ซุ้มโพธิ์ ๑๒ ใบบนฐาน ๓ ชั้น ภายในซุ้มครอบแก้ว ด้านหลังองค์พระเป็นตัวหนังสือ ๕ แถว ปรากฏข้อความว่า สวนพระโพธิสัตว์ ต.ทับคล้อ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ๒๕๒๔

พุทธกวัก - จัดสร้างขึ้นครั้งแรก เมื่อพ.ศ. xxxx ขณะนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ พักอยู่ที่โบสถ์หลังเก่า วัดมงคลทับคล้อ ตำบลทับคล้อ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

พระพิมพ์ปรกโพธิ์ รุ่น ๖๐ ปี - จัดสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื่องในวันครบรอบ ๖๐ ปีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ และแจกในงานวางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์วัดทับคล้อ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยพุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมแบบพระสมเด็จ ด้านหน้าองค์พระปฏิมาประทับนั่งปางสมาธิใต้ซุ้มโพธิ ๑๖ ใบบนฐาน ๓ ชั้น ภายในซุ้มครอบแก้ว ด้านหลังองค์พระเป็นยันต์และตัวหนังสือ " อายุ ๖๐ ปี " ปรากฏอยู่ด้านใต้ยันต์

พระปางเปิดโลก - จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ สำหรับแจกในงานอยู่ธุดงค์วัตร ปฏิบัติกัมฐาน โดยพุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบสามเหลี่ยม ด้านหน้าองค์พระปฏิมาประทับยืนบนฐานบัวสองชั้น แขนทั้งสองข้างแนบลำพระองค์ ฝ่าพระหัตถ์แผ่หันออกด้านหน้า หรือที่เรียกว่า " พระปางเปิดโลก " ด้านหลังองค์พระเป็นสัญลักษณ์ของวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) เป็นรูปช้างสองตัวชูองค์พระเจดีย์ที่เปล่งรัศมี

พระปางปฐมเทศนา - จัดสร้างเมื่อคราวที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ กลับจากเยือนประเทศอินเดีย

พระพิมพ์ปรกโพธิ์ รุ่น ๗๒ ปี - จัดสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เนื่องในวันครบรอบ ๗๒ ปีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ โดยพุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมแบบพระสมเด็จ ด้านหน้าองค์พระปฏิมาประทับนั่งปางสมาธิใต้ซุ้มโพธิ์ ๑๖ ใบบนฐาน ๓ ชั้น ภายในซุ้มครอบแก้ว ด้านหลังองค์พระเป็นสัญลักษณ์ของวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) เป็นรูปช้างสองตัวชูองค์พระเจดีย์ที่เปล่งรัศมีและเลขไทย ๗๒ ปรากฏอยู่ด้านใต้สัญลักษณ์

ขัตตุคาม-รามเทพ วัดทับคล้อ ๒๕๕๐ รุ่นสร้างโบสถ์ - อธิษฐานจิตพุทธาภิเษก โดย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ และประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ภายในพระอุโบสถวัดทับคล้อ พิจิตร โดยลักษณะเป็นพิมพ์กลม ด้านหน้าเป็นองค์ท้าวรามเทพประทับนั่ง ด้านล่างเขียนว่า "วัดทับคล้อ พิจิตร" ด้านหลังองค์พระเป็นสัญลักษณ์ของวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) เป็นรูปช้างสองตัวชูองค์พระเจดีย์ที่เปล่งรัศมีและเขียนว่า "สร้างโบสถ์ ๒๕๕๐" ปรากฏอยู่ด้านใต้สัญลักษณ์

* หมายเหตุ : ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงพระเครื่องรุ่นต่างๆ ส่วนหนึ่งของทางวัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์) พิจิตร ที่มีหลักฐานรับรองการยืนยันการจัดสร้างโดยทางวัดเองที่ชัดเจนเป็นลายลักอักษรเท่านั้น ยังมีพระเครื่องอีกหลายๆ รุ่นที่ยังไม่ได้นำมาลงรายละเอียดไว้ ณ ที่นี่ เนื่องจากยังไม่ได้มีการยืนยันความชัดเจนจากผู้ดูแลการจัดสร้างพระเครื่องของทางวัด หรือผู้รู้ข้อมูลทั้งหมดครับ และนอกจากนี้ยังมีพระเครื่องอีกหลายรุ่นที่ทางศิษยานุศิษย์พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล ได้ขออนุญาติจัดสร้างเอง แล้วนำมาให้ท่านปลุกเสก หรือประกอบพิธีพุทธาภิเษกให้อีกส่วนหนึ่ง สำหรับพระเครื่องวัดทับคล้อ (สวนโพธิ์) พิจิตร รุ่นอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ที่ผมมีสะสมไว้ ขออนุญาติไม่นำมาเผยแพร่ ณ ที่นี่เพราะเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดของศิษยานุศิษย์ และบุคคลทั่วไปที่เข้ามาชม หรือหาข้อมูลไปอ้างอิง เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้รู้ที่มาที่ไปจริงๆ ทั้งหมดทุกรุ่น ได้รับฟังมาเพียงคำบอกเล่าจากศิษย์กับศิษย์ด้วยกันเท่านั้นเอง ดังนั้นหากผมนำมาเผยแพร่ไปอาจจะเป็นการผิดศีลมุสา..ไปก็ได้ อาจจะโดยไม่ตั้งใจ... (ถ้ามีโอกาสได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ยืนยัน ชัดเจน ก็จะนำมาเสนอในโอกาสถัดไป)

* ขอบคุณข้อมูลจากเว็บวัดทับคล้อดอทคอม www.watthapklo.com

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมู เขี้ยวหมี

เขี้ยว งา กะลา เขา เป็นคำพูดที่พูดกันมานมนาน ซึ่งหมายถึง วัสดุที่นำมาสร้างเครื่องรางของขลังนั่นเอง

เครื่องรางที่สร้างจากเขี้ยวสัตว์นั้น ส่วนใหญ่จะเน้น เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมูป่า เป็นหลัก ส่วนที่สร้างจากงา คงเป็นแค่งาช้างเท่านั้น จากกะลามะพร้าว ส่วนใหญ่จะใช้กะลามะพร้าวที่มีตาเดียว แต่ถ้าเจอกะลามะพร้าวที่มีห้าตา สิบตา ก็ยิ่งดี ถือว่าเป็นของหายาก ส่วนจากเขาสัตว์นั้นจะเน้นไปทาง เขาวัวกระทิง เขาควาย และเขากวางเป็นหลัก วัตถุที่นำมาสร้างเครื่องรางของขลังเหล่านี้ เชื่อกันว่ามีความขลังในตัวอยู่แล้ว ยิ่งนำมาทำพิธีปลุกเสกด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความขลังเป็นทวีคูณขึ้นหลายเท่า

วันนี้ ผู้เขียนขออนุญาตบรรยายเรื่อง เขี้ยว เรื่องเดียวอีกสักครั้ง จำได้ว่า ชั่วโมงเซียน ของหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก" ผู้เขียนได้เคยบรรยายเรื่องเขี้ยวไว้แล้ว เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันกลับมีผู้นิยมสนใจเรื่องเครื่องรางของขลังกันมากมาย ผู้เขียนจึงนำข้อมูลมาเสนอให้ อาจช่วยเพิ่มเติมความรู้ ความเข้าใจ และเป็นวิทยาทานได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

เขี้ยว นับว่าเป็นเครื่องรางของขลังที่ได้รับความนิยมสูงสุดชนิดหนึ่ง จากเครื่องรางยอดนิยมทั่วๆ ไป พระเกจิอาจารย์บางท่านที่นำเขี้ยวมาแกะสร้างเครื่องรางของขลัง จนได้รับความนิยม ให้นั่งอยู่แถวหน้า ประเภทเครื่องรางของขลังยอดนิยม เช่น เขี้ยวเสือแกะของหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน และเขี้ยวเสือแกะของอาจารย์เฮง วัดเขาดิน เป็นต้น เขี้ยวสัตว์นั้นที่จริงมีด้วยหลายประเภท ที่นิยมนำมาสร้างเครื่องรางของขลังกัน แต่ที่จะเขียนถึงคราวนี้ จะเน้นเฉพาะ เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมูป่าเท่านั้น เพราะทั้งสามเขี้ยวนี้ เป็นวัสดุที่ทั้งพระเกจิอาจารย์ และฆราวาส นิยมนำมาสร้างวัตถุมงคลกันมาก และได้รับความนิยมกันแทบทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญ ปัญหาอยู่ที่มีผู้ซักถาม และถกเถียงกันอยู่บ่อย เกี่ยวกับการแยกประเภทของเขี้ยวว่า เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมู นั้นแตกต่างกันอย่างไร บางท่านยังไม่ทราบ หลายท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว และอีกหลายท่านก็ยังคงเดาๆ อยู่

วันนี้ เรามาทำความเข้าใจกัน ผู้เขียนเองยอมรับว่า ไม่ได้เก่งกาจอะไรมากเรื่องเครื่องรางของขลัง แต่เป็นคนที่ชอบวัตถุมงคลประเภทเครื่องรางเอามากๆ คนหนึ่ง เลยทีเดียว ชอบค้นคว้า ค้นตำราต่างๆ ถามผู้รู้ ผู้ชำนาญ เคยซื้อผิด ซื้อถูก ทุกอย่างผู้เขียนถือว่า เป็นครูเท่านั้น เมื่อได้ความรู้อะไรมาบ้างที่เห็นว่าสำคัญ และถูกต้องก็ถ่ายทอดกันต่อๆ ไป จะได้ไม่สูญหายไปจากวงการ

เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมู ถ้าเป็นอาจารย์เดียวกันสร้าง เขี้ยวเสือจะได้รับความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่ง รองมาก็คือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมู เป็นอันดับท้าย คงเป็นความเชื่อเรื่องบารมีมหาอำนาจ ของเขี้ยวสัตว์แต่ละชนิดก็ได้ เสือซึ่งถือว่าเป็นเจ้าป่า และหายาก ฆ่าก็ยาก หมียังพอเห็นมากกว่า ส่วนหมูป่านั้นมีจำนวนมากมาย แต่ถ้าเป็นหมูที่มีเขี้ยวตัน หรือเขี้ยวยาว ใหญ่ ก็ถือว่าหาชมได้ยากเช่นกัน ดังคำโบราณที่กล่าวว่า ถ้าจะเล่นเขี้ยวหมู ต้องเล่นเขี้ยวตัน จะเล่นเขี้ยวเสือต้องเล่นเขี้ยวโปร่ง (โปร่งฟ้า) ก่อนจะแยกแต่ละประเภทของเขี้ยวนั้น อยากพูดถึงลักษณะของการนำเขี้ยวมาแกะ ว่ามีลักษณะใดบ้าง คือมีทั้งที่แกะเต็มเขี้ยว ครึ่งเขี้ยว หรือ นำเอาเขี้ยวมาผ่าเป็นซีก แกะเป็นชิ้นเล็กๆ ก็มี

เต็มเขี้ยว หมายถึง เขี้ยวที่ถูกถอดรากออกจากเหงือกทั้งอัน ซึ่งยังมีปลายเขี้ยวแหลม ยาวอยู่ เช่น เสือ หลวงพ่อนก วัดสังกะสี

ครึ่งเขี้ยว หมายถึง เขี้ยวที่ถูกถอดรากออกจากเหงือกทั้งอัน แล้วนำมาตัดแบ่งครึ่ง ส่วนใหญ่นิยมเอาครึ่งแถบที่เป็นรากเขี้ยวมาแกะ เช่น เสือ หลวงพ่อปาน คลองด่าน ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป

เขี้ยวซีก หมายถึง การเอาเขี้ยวเต็มมาผ่าแบ่งเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาแกะ เป็นวัตถุมงคล อีกทีหนึ่ง เช่น เสือเขี้ยวซีก หลวงพ่อปาน คลองด่าน หรือ เสือ อาจารย์เฮง วัดเขาดิน

การแกะวัตถุมงคลจากเขี้ยวซีกชิ้นเล็กๆ นั้น บางท่านอาจเข้าใจผิดว่า แกะมาจากปลายเขี้ยว ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก เพราะปลายเขี้ยวมีลักษณะแข็งและกรอบ ถ้าโดนแกะก็จะปริแตกไม่เป็นรูปทรง ความจริงแล้ว เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมู มีลักษณะที่แยกออกจากกันได้ชัดเจน ผู้เขียนจะอธิบายไปทีละขั้น จะได้เข้าใจง่าย ไม่สับสน โดยดูรูปภาพประกอบจะเห็นได้ชัดเจน

เขี้ยวเสือ นั้นมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของตัวเสือ เขี้ยวจะยาว เรียว ปลายแหลมคม โค้งพอประมาณ ดูจากปลายเขี้ยวจะเห็นเหลี่ยม เป็นร่องเล็กๆ อยู่แถบละสองร่อง ทั้งสองข้าง วิ่งเป็นแนวร่องเข้ามายังตัวเขี้ยวชัดเจน เราเรียกกันว่าร่องเส้นเลือด และถ้านำเขี้ยวเสือมาตัดแบ่งครึ่ง เราจะเห็นรูตรงกลางเป็นรูกลวงโปร่งไปสุดโคนเขี้ยว ซึ่งจะมีลักษณะกลม หรือกลมรีเล็กน้อย กว้างประมาณ ๒๐-๓๐% ของพื้นที่หน้าเขี้ยวที่เราตัดครึ่ง และจะมีคลื่นรัศมีวิ่งรอบปากรูเขี้ยวซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน

เขี้ยวหมี นั้นมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่เช่นกัน เขี้ยวหมีเมื่อดูภายนอกลักษณะทั่วไปคล้ายเขี้ยวเสือมาก คือมีความเรียว โค้งยาว ปลายแหลมคม สิ่งที่แตกต่างจากเขี้ยวเสือนั้นคือปลายเขี้ยวหมี ก็มีร่องเลือดเหมือนกัน แต่เป็นแบบเส้นเลือดสีน้ำตาลแดงวิ่งรอบเป็นวงเดือน จากปลายเขี้ยวเข้ามาด้านใน เป็นสิบๆ รอบ ซึ่งเรามองเห็นด้วยตาเปล่าได้ชัดเจน และเมื่อเรานำเขี้ยวมาตัดผ่าแบ่งครึ่ง ก็พบรูกลวงโปร่งเช่นเดียวกันเหมือนกับเขี้ยวเสือ แต่รูของเขี้ยวหมีจะกว้างกว่ารูของเขี้ยวเสือมาก บางเขี้ยวเจอรูกว้าง ๗๐-๘๐% ของหน้าเขี้ยวเลยทีเดียว

เขี้ยวหมูป่า มีลักษณะที่แตกต่างจากเขี้ยวเสือ และเขี้ยวหมี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนมาก เขี้ยวหมูป่านั้น มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีลักษณะค่อนข้างแบนเป็นเหลี่ยมโค้งยาว ปลายแหลม โคนเขี้ยวเป็นรูกลวงลึกเข้าไปด้านในเกือบสุดปลายเขี้ยว เขี้ยวหมูป่าบางเขี้ยวนั้นยาวเอามากๆ จนเกือบจะเป็นครึ่งวงกลมเลยก็มี โดยทั่วไปเขี้ยวหมูป่าจะเป็นเขี้ยวกลวงเกือบทั้งนั้น จะหาเขี้ยวแบบตันๆ นั้นยากมาก และเมื่อตัดเขี้ยวแบ่งครึ่งออกจากกัน ก็จะเห็นรูของเขี้ยวหมูป่าเป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่เหมือนกับเขี้ยวเสือกับเขี้ยวหมี ที่มีรูลักษณะกลม หรือรูปวงรี

สรุปได้ว่า เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมูป่า มีลักษณะที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาแล้วก็สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน เมื่อท่านผู้อ่านมีโอกาสได้เครื่องรางของขลังประเภทเขี้ยวเหล่านี้ ก็ควรใช้ดุลพินิจ พิจารณาข้อมูลของผู้เขียน อาจจะช่วยท่านได้บ้างไม่มากก็น้อย

* ข้อมูลจากเว็บคม-ชัด-ลึก คุณนุ เพชรรัตน์ คลิ๊กที่นี่

เขี้ยวเสือกลวง - เขี้ยวหมูตัน


เขี้ยวเสือกลวง - เขี้ยวหมูตัน (ของทนสิทธิ์)

เขี้ยวเสือกลวง - เขี้ยวหมูตัน 2 สิ่งนี้ตามโบราณกาลเรียกว่าของ "ทนสิทธิ์" คือของที่คุณวิเศษความอาถรรพ์ในตัวมันเอง เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ วัตถุที่เกิดขึ้นเองจากธรรมชาติ ทั้งที่อาจจะเกิดจากความผิดปกติของสิ่งของที่ธรรมชาติควรจะเป็น เป็นของทนสิทธิ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่หายากเช่น กะลาตาเดียว กะลามหาอุด เขี้ยวเสือกลวง เขี้ยวหมูตัน เขากวางคุด ข้าวสารหิน ไม้ไผ่ตัน เหล็กไหล คตต่างๆ ตามภาษาคนที่เล่นของ เค้าเรียกแทนสิ่งๆหนึ่งที่ผิดแปลกธรรมชาติ คต สามารถเกิดได้กับพืช สัตว์ เกิดมาด้วยความอาถรรพ์ ซึ่งมีอีกเยอะแยะมากมาย เป็นของที่หายากมากเพราะนานๆ จะเจอซักชิ้นนึง หรือทั้งชีวิตไม่มีโอกาสได้พบเจอเลยก็เป็นได้

นอกจากที่กล่าวมานี้แล้ว ยังมีวัตถุที่เกิดขึ้นจากมนุษย์สร้างขึ้นมา อาจจะเป็นฆราวาส หรือพระเกจิอาจารย์ ผู้รู้ได้ทำการสร้างและปลุกเสกขึ้นมาเพื่ออุปเท่ห์ต่างๆ แล้วแต่ชนิดที่สรางขึ้น เช่น ตะกรุด มีดหมอ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด ปรอทกรอ เบี้ยแก้ ไม้ครู และอีกมากมาย โดยเราจะเรียกกันว่า "เครื่องราง" นั่นเอง

คาถาพญาเสือโคร่ง "พยัคโฆ พยัคฆสัญญา ลัพพะติ อิติหิหัมหึม"

คาถาพญาเสือมหาอำนาจ ตั้งนะโม ๓ จบ "ตะมัตถัง ปะกาเสนโต ตัวกูคือ พญาพยัคโฆ สัตถาอาหะ พยัคโฆ จะ วิริยะ อิมังคาถามะหะ อิติ ฮ่ำ ฮึ่ม ฮึ่ม"

* เคล็ดลับในการภาวนาพระคาถา ให้ภาวนา ตั้งแต่ "ตะมัตถัง มาจนถึง อิมังคาถามะหะ" ให้กลั้นลมหายใจภาวนาให้มั่น ทำจิตให้ดุเหมือนเสือ แล้วจึงย้ำว่า "อิติ ฮ่ำ ฮึ่ม ฮึ่ม" จึงผ่อนลมหายใจ

* รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเขี้ยวเสือกลวง - เขี้ยวหมูตัน ที่นำมาโชว์ :
- เขี้ยวเสือกลวง ความยาวประมาณ 4 นิ้ว กลวงตลอดเขี้ยว ไม่มีจารย์ ไม่สามารถถ่ายด้านในให้ดูได้เนื่องจากเชื่อมฝาปิดแล้วไว้สำหรับห้อยคอ โดยลักษณะกลวงของเขี้ยวเสือ
- เขี้ยวหมูตัน ความยาวประมาณ 6 นิ้ว ตันตลอดเขี้ยว มีรอยจารย์ที่เขี้ยว ไม่สามารถถ่ายรอยจารย์มาให้ดูได้เนื่องจากคุณภาพกล้องไม่ดี

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

ความเป็นมาเครื่องรางของขลัง

กำเนิดความเป็นมา เครื่องรางของขลัง

หากจะพูดถึงเรื่อง เครื่องรางของขลัง เป็นเรื่องที่ลึกลับและกว้างขวาง ซึ่งในตำราพิชัยสงคราม กล่าวว่า เครื่องรางของขลัง ที่นักรบสมัยโบราณจะมีติดตัวเป็นมงคล ซื่งมีด้วยกันหลายชนิดและมีความเชื่อต่อ เครื่องรางของขลังนั้นๆและพระคณาจารย์เหล่านั้นอย่างมั่นคง จะเห็นได้จากการสืบทอดสรรพตำรา ตกทอดกันมาเนิ่นนานทีเดียว ซึ่งแบ่งออกไปตามประเภทย่อๆดังนี้

1.ความเป็นมาจากตามธรรมชาติ ได้แก่ สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีการสรรค์สร้าง ซึ่งถือว่ามีดีในตัวและมีเทวดารักษา สิ่งนั้น ได้แก่ เหล็กไหล คดต่างๆ เขากวางคุด เขี้ยวหมูตัน เขี้ยวเสือ กลวง เถาวัลย์ ฯลฯ
2.ส่วนของดีที่สร้างขึ้นมานั้น ได้แก่ สิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เช่น แร่ธาตุ ต่างๆ ที่หล่อหลอมตามสูตร การเล่นแร่แปรธาตุ อันได้แก่ เมฆสิทธิ์ เมฆพัด เหล็กละลายตัว สัมฤทธิ์ นวโลหะ สัตตะโลหะ ปัญจโลหะ เป็นต้น ทั้งนี้คลุมไปถึง เครื่องราง ลักษณะต่างๆ ที่ได้รับการสร้างขึ้นมาเพื่อคุ้นกันภัยอันตราย

การแบ่งตามการใช้ดังต่อไปนี้

1.เครื่องคาด อันได้แก่ เครื่องราง ที่ใช้คาดศีรษะ คาดเอว คาดแขน ฯลฯ
2.เครื่องสวม อันได้แก่ เครื่องราง ที่ใช้สวมคอ สวมศีรษะ สวมแขน สวมนิ้ว ฯลฯ
3.เครื่องฝัง อันได้แก่ เครื่องราง ที่ใช้ฝังลงไปในเนื้อหนังของคน เช่น เข็มทอง ตะกรุดทอง ตะกรุดสาลิกา (ใส่ลูกตา) และการฝังเหล็กไหล หรือ ฝังโลหะมงคล ต่างๆ ลงไปในเนื้อจะรวมอยู่ในพวกนี้ทั้งสิ้น
4. เครื่องอม อันได้แก่ เครื่องราง ที่ใช้อมในปาก อาทิเช่น ลูกอม ตะกรุดลูกอม (สำหรับในข้อนี้ไม่รวมถึง การอม เครื่องราง ชนิด ต่างๆ ที่มีขนาดเล็กไว้ในปากเพราะไม่เข้าชุด)

การแบ่งตามวัสดุดังนี้ 1.โลหะ 2.ผง 3.ดิน 4.วัสดุอย่างอื่น อาทิ กระดาษสา ชันโรง ดินขุยปู 5.เขี้ยวสัตว์ เขาสัตว์ งาสัตว์ เล็บสัตว์ หนังสัตว์ 6.ผมผีพราย ผ้าตราสัง ผ้าห่อศพ ผ้าผูกคอตาย 7.ผ้าทอทั่วๆไป

การแบ่งตามรูปแบบลักษณะดังนี้

1.ผู้ชาย อันได้แก่ รักยม กุมารทอง ฤาษี พ่อเฒ่า ชูชก หุ่นพยนต์ พระสีสแลงแงง และสิ่งที่เป็นรูปของเพศชายต่างๆ
2.ผู้หญิง อันได้แก่ แม่นางกวัก แม่พระโพสพ แม่ศรีเรือน แม่ซื้อ แม่หม่อมกวัก เทพนางจันทร์ พระแม่ธรณี และสิ่งที่เป็นรูปของผู้หญิงต่างๆ
3.สัตว์ ในที่นี้ หมายถึง พระโพธิสัตว์ อาทิ เสือ ช้าง วัว เต่า จระเข้ งู ดังนี้เป็นต้น

การแบ่งตามระดับชั้น ดังนี้

1.เครื่องรางชั้นสูง อันได้แก่ เครื่องราง ที่ใช้บนส่วนสูงของร่างกาย ซึ่งนับตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงบั้นเอว สำเร็จด้วย พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
2.เครื่องรางชั้นต่ำ อันได้แก่ เครื่องราง ที่เป็นของต่ำ อาทิ ปลัดขิก อีเป๋อ (แม่เป๋อ) ไอ้งั่ง (พ่องั่ง) ไม่ได้สำเร็จด้วยของสูง
3.เครื่องรางที่ใช้แขวน อันได้แก่ ธงรูปนก รูปตั๊กแตน รูปปลา หรือ กระบอกใส่ยันต์และอื่นๆ

เมื่อได้แบ่งแยกกันออกไป เป็นหมวดหมู่ย่อยๆ ออกไปให้เห็นกันง่ายๆแล้ว ทีนี้ก็จะจะมาพูดถึงว่าเขาสร้างเครื่องรางกันทำไม เรื่องนี้อธิบายได้พอสังเขปก็แล้วกัน เรื่องก็มีอยู่ว่าเดิมทีนั้นโลกไม่มีศาสนาบังเกิดขึ้นมนุษย์ก็รู้จักกับปรากฏการณ์ของธรรมชาติเท่านั้น อาทิเช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และ ดาวตก หรือแม้กระทั่ง ไฟ ดังนั้น เมื่อเห็น พระอาทิตย์ มีแสงสว่างก็เคารพ แล้วเขียนภาพดวงอาทิตย์ไว้ในผนังถ้ำ เพื่อให้เกิด ความอบอุ่นใจในตอนกลางคืน เมื่อเขียนใส่ผนังถ้ำแล้วก็มาสลักลงบนหิน เพื่อติดตัวไปมาได้ ก็กลายเป็น เครื่องราง ไปโดยบังเอิญ และเมื่อรู้จักไฟก็คิดว่าไฟเป็นเทพเจ้า ก็บูชาไฟ ทำรูปดวงไฟ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นสิ่งประหลาด อาทิ นกที่มีรูปร่างประหลาด เป็นต้น ต่อมาก็สร้างรูปเคารพของเทพต่างๆ และค่อยๆ เปลี่ยนรูปมาเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จาก ประเทศ อียิปต์ กรีก โรมัน เพราะเป็นประเทศที่มี เครื่องราง มากมาย ดังนั้นเมื่อก่อนพุทธกาลราว 2,000 ปีเศษ ศาสนาพราหมณ์ ถือเอาพระผู้เป็นเจ้าเป็นสรณะก็บังเกิดขึ้น พระผู้เป็นเจ้านั้นก็คือ พระศิวะ พระนารายณ์ พระพรหม และ เมื่อต้องการความสำเร็จผลใน สิ่งใด ก็มีการสวด อ้อนวอน อันเชิญ ขออำนาจของ เทพเจ้าทั้งสามให้มาบันดาลผลสำเร็จที่ต้องการนั้นๆ

การกระทำดังกล่าวนี้จำต้อง มีที่หมายทางใจ เพื่อความสำรวม ฉะนั้นภาพจำหลักของ เทพเจ้าทั้ง 3 ก็มีขึ้น จะเห็นได้จากรูปหะริหะระ (HariHara) แห่งประสาทอันเดต (Prasat Andet) ที่พิพิธภัณฑ์ เมืองพนมเปญ อันเป็นภาพจำหลักของ พระนารายณ์ ใน ศาสนาพราหมณ์ กับ เทวรูปมหาพรหม แห่ง พิพิธภัณฑ์กีเมต์ที่ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นด้วย ความมุ่งหมายเอาเป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางใจในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ในประเทศอินเดีย กาลต่อมาพระพุทธศาสนาก็บังเกิดขึ้นในโลก โดย พระบรมศาสดา (เจ้าชายสิทธัตถะ) เป็นผู้ทรงค้นพบอมตะธรรมวิเศษ อันมีผู้เลื่อมใส่สักการะแล้วยึดเป็นสรณะ ดังนั้น พระพุทธองค์ ทรงมีพระสาวก ตามเสด็จ ประพฤติปฏิบัติมากมาย จนเป็นพระอสีติมหาสาวก ขึ้น ซึ่งท่านมหาสาวก เหล่านี้ล้วนเป็นผู้ทรงไว้ ความเป็นเอตทัลคะ ในด้านต่างๆกัน มี พระสารีบุตร ทรงความเป็นยอดเยี่ยมทางปัญญา ส่วน พระโมคคัลลานะทรงความเป็นยอดเยี่ยมทางอิทธิฤทธิ์ ในพระพุทธศาสนานั้น ผู้ที่สำเร็จญาณสมาบัติได้ ต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ ย่อมแสดงอิทธิฤทธิ์ ได้หลายอย่าง เป็นอเนกประการ อิทธิฤทธิ์ เหล่านี้ เรียกว่า “อิทธิปาฏิหาริย์” เป็นการกระทำที่สามัญชนไม่สามารถจะกระทำได้ ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ใน “พระไตรปิฎก” มากมาย และพระคณาจารย์เจ้า ผู้สำเร็จญาณสมาบัติ ท่านย่อมทรงไว้ซึ่งฤทธิ์

โดย ที่พระพุทธองค์ ผู้เป็นเจ้าของ “พุทธศาสนา” นั้น พระองค์ทรงไว้ด้วย พระคุณ 3 ประการ คือ 1.พระเมตตาคุณ 2.พระปัญญาคุณ 3.พระบริสุทธิคุณ ดังนั้น พระเถรานุเถระผู้ทรงไว้ด้วย ญาณสมาบัติ ก็มักจะใช้ฤทธิ์ของท่านช่วยมนุษย์และสัตว์โลก ซึ่งถือเอาหลัก พระเมตตาคุณ เป็นการรอยพระยุคบาทแห่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระบรมศาสนา นั่นเอง ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแสนนานทีเดียว แต่ลงรอยกันไม่ได้ นั่นก็คือคำว่า “เครื่องราง” กับ “เครื่องลาง” ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เขียนว่า “เครื่องราง” อันหมายถึงเครื่องป้องกันภัยที่สำเร็จด้วยรางหรือร่อง แต่สำหรับ นักนิยมสะสม เครื่องราง ระดับสากลนิยมจะเรียกว่า “เครื่องลาง” อันหมายถึง เครื่องที่ใช้เกี่ยวกับโชคลาง เพราะดั่งเดิมนั้น มนุษย์ ทำของเช่นนี้ ขึ้นมา เพื่อป้องกัน เหตุร้ายที่เรียกว่า “ลาง” ซึ่งเป็นลางดีและไม่ดี แต่ก็เอาละเมื่อเขียนว่า “เครื่องราง” ก็เอาตาม พจนานุกรมนั่นแหละ

* ข้อมูลจากเว็บ อิทธิปาฏิหารย์ คลิ๊กที่นี่

วิธีการดูเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ๕

บทความมีประโยชน์ เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ในมุมมองของคุณเพชร ท่าพระจันทร์

เครื่องรางของขลัง ชนิดหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจใคร่รู้อย่างยิ่งของนักนิยมสะสมพระเครื่อง รางขลังตั้งแต่ในอดีตจนถึงทุกวันนี้ก็คือ “เสือ” ของ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า วัดบางเหี้ย อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ

ภาพ "เสือ" ที่เห็นนี้ เป็นชิ้นสุดยอดที่ได้คัดเลือกมาให้ชม ประเภท เห็นกันเป็นครั้งแรก ตามนโยบายที่วางไว้ และสำคัญที่สุดคือ เป็น "เสือแท้" ในรอบหลายปีที่วนเข้ามาให้นักเล่นได้มีสิทธิ์ครอบครองกัน

"เสือ" หลวงพ่อปาน ตัวนี้ ครั้งแรกที่ได้เห็น ยังอยู่ในมือนักนิยมพระท่านหนึ่ง ซึ่งได้เลี่ยมจับขอบทองเอาไว้ ทำให้เห็นทรวดทรงตัวเสือไม่ค่อยถนัดนัก ภายหลังเมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันแล้ว เจ้าของใหม่ได้แกะทองที่เลี่ยมเอาไว้ออก เพื่อเอาท่านใส่ตลับทองคำ ตอนนี้เองที่ทำให้เห็นตัวจริงองค์จริงของท่าน ซึ่งทำไมท่านจึงมีลักษณะดังนั้น...

เสือ" ตัวนี้ เป็นเสือที่ถูกแกะขึ้น ภายใต้ศัพท์ที่นักเล่นเรียกหา คือ เสือเขี้ยวซีก ก็ด้วยเหตุที่ "เขี้ยวเสือ" เป็นวัตถุอาถรรพณ์ และเสือจริงสมัยก่อน รวมทั้งสมัยนี้เป็นที่รู้กันว่าหาได้ยากยิ่ง

เสือรุ่นแรก จึงมักใช้วัสดุเท่าที่มี ซึ่งจำกัดมาก หาได้เท่าไรก็ให้หลวงพ่อลงจาร หรือทำให้เท่านั้น การแกะเสือยุคแรกๆ ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ตัวหลวงพ่อ เมื่อได้เขี้ยวเสือมา จึงมักแบ่งเขี้ยวออกเป็นสองส่วน แล้วจึงให้ช่างแกะเป็นตัวเสือให้

อีกกรณีหนึ่งคือ ประเภทได้เขี้ยวเสือมา แต่เป็นเขี้ยวชำรุด หรือบิ่นแตก ด้วยเชื่อว่าตัวเสือเจ้าของเขี้ยวค่อนข้างดุ ขบกัดฉีกกินเหยื่อต่างๆ มานับไม่ถ้วน หรืออาจกัดทำร้ายกันเอง ทำให้เขี้ยวเสือหักกร่อน ข้างหนึ่งดี อีกข้างบิ่น สูงยาวไม่เท่ากัน เมื่อถึงมือช่าง จึงมักถูกแต่งทิ้ง ด้านที่อาจบิ่น หรือชำรุดออกไป ดังนั้นในยุคแรกๆ ของการแกะเสือ จึงมักเจอ เสือเขี้ยวซีก กันบ่อยครั้ง

ต่อมาเมื่อ เสือหลวงพ่อปาน เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง บรรดาเจ้าสัว นายหัว คุณท่าน ต่างก็จ้างคนสืบหาเขี้ยวเสือที่ค่อนข้างใหญ่และงาม นำมาให้ช่างแกะ บรรดาลูกศิษย์วัดต่างส่งข่าวหาเขี้ยวกัน เพื่อนำมาแกะเป็นวัตถุมงคล รูปเสือ กันอย่างกว้างขวาง จนมีเรื่องเล่าว่า ค่าตัวของเสือหลวงพ่อปานสมัยนั้น (เมื่อร้อยปีมาแล้ว) มีราคาตั้งแต่ ๑ บาท ๒ บาท จนถึง ๓ บาท นั่นคือราคาที่แพงที่สุด แต่ก็มีเรื่องเล่า (อีก) ที่ว่า มีคหบดีท่านหนึ่งให้ราคาเสือถึง ๕ บาท เพื่อให้ช่างหาเขี้ยวและนำมาแกะเป็นตัวเสือ

ดังนั้น "เสือ" เมื่อก่อนจะมาถึงมือของ หลวงพ่อปาน ก็มีราคาค่าตัวสูงอยู่แล้ว เมื่อท่านเมตตา ประสิทธิประสาท ปลุกเสกคาถาอาคมให้ และมอบเสือให้ศิษย์ รวมทั้งผู้เคารพศรัทธาในตัวท่านแล้ว เสือหลวงพ่อปาน จึงมีราคาค่านิยมสูงมาก มาตั้งแต่สมัยนั้น เรื่องที่จะได้ "เสือ" ราคาถูกๆ จึงไม่มีมาตั้งแต่สมัยเก่าก่อนแล้ว

มาถึงทุกวันนี้ เมื่อต่างรู้ว่าใครมี เสือหลวงพ่อปาน ราคาค่าตัวจึงถูกประมูล และผู้ที่มีไว้ครอบครองส่วนใหญ่ต้องให้ราคาค่อนข้างสูงกว่าปกติทั่วไป จึงจะได้สิทธิครอบครองเสือจริง

ส่วนที่ได้ราคาถูก หรือมีด้วยเสือเช่นกัน มักเป็น เสือหิว เสือโหย เสียเป็นส่วนใหญ่ เสือลักษณะนี้ แค่ได้ยินชื่อ ท่านทั้งหลายก็คงไม่คิดอยากจะเอาไว้ใกล้ตัว ลักษณะเป็นอย่างไร เดี๋ยวว่ากันต่อ

ค่าเขี้ยวเสือ ค่าโกลนขึ้นรูปเสือ แม้มีราคามากแล้ว แต่ขั้นตอนการได้เสือยุ่งยากกว่ามาก ด้วยท่านกว่าจะทำเสือ ลงจารเสือ ปลุกเสกสำเร็จ จิปาถะ ฯลฯ ก็ต้องผ่านพิธีกรรมหลายขั้นตอน

เสือหลวงพ่อปาน ตัวที่ท่านกำลังเห็นอยู่นี้ เมื่อจำเป็นจะต้องใช้เขี้ยวซีกแล้ว ทราบว่าต้องให้ช่างคนหนึ่งแกะสลักให้ ในบรรดาช่างที่มีฝีมือ อาทิ ช่างฟัก ช่างชม ช่างนิล ช่างมาก และช่างมา อาจจะเป็นคนเดียวกันก็ได้

ช่างแกะเขี้ยวซีก ผู้มีความเก่งกล้าสามารถมากท่านหนึ่ง แม้จะจำชื่อท่านไม่ได้ แต่จำฝีมือท่านได้แม่น ด้วยส่วนใหญ่ท่านจะแกะแบบ เสือนิยม นั่งหุบปาก ตาเนื้อ รวมความแล้วเป็นแบบ เสือหน้าแมวแต่ดุ ด้วยเนื้อที่น้อย จำกัดลักษณะ จึงมักทิ้งเนื้อที่ใต้ฐานเสือนั่งเอาไว้ เพราะไม่มีเนื้อที่เหลือไว้ให้หลวงพ่อลงเหล็กจารอักขระยันต์ใต้ฐานล่างได้ แต่เพราะความเป็นช่างผู้มากด้วยประสบการณ์ และเป็นเรื่องต้องทราบ ด้วยหลวงพ่อต้องลงอักขระเลขยันต์ในการสร้างเสือขึ้นมาทุกครั้ง นายช่างท่านนี้จึงมักจะเหลือพื้นที่ใต้เสือนั่ง ฝั่งซ้าย-ขวาเอาไว้ เพื่อให้หลวงพ่อมีเนื้อที่ลงอักขระเลขยันต์ได้ตามสูตร

ดังนั้น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ฝีมือชั้นเชิงช่าง และสิ่งที่เหลือ ลายมือหลวงพ่อ ในเสือหลวงพ่อปาน จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเก็บรักษาดูแลเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องสูตรจารตัว “เสือ” ของหลวงพ่อปาน ตามสูตรท่านลงแบบ ยันต์ตรีนิสิงเห คือตัวเลขต่างๆ ที่เห็นในภาพ รวมทั้ง ยันต์กอหญ้า ยันต์ฤษีเลื่องลือ

เสือหลวงพ่อปาน ที่เห็นในภาพนี้ เป็น ยันต์นะปถมัง ยันต์สูตรนี้เมื่อเรียนจบแล้ว ยังต้องรู้ว่า ลงแล้วดีอย่างไร ในหนังสือของ อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เขียนเรื่องนี้ไว้ว่า

ในบุราณคัมภีร์ ท่านได้วางแบบนะอักขรวิเศษต่างๆ ไว้มาก ดังที่ท่านเรียกกันว่า นะ ๑๐๘ แต่แท้ที่จริง บรรดานะอักขรวิเศษเหล่านั้น ท่านแยกออกมาจากสูตรปถมังทั้งนั้น เป็นแต่ผิดเพี้ยนรูปกันไป และคาถาที่ปลุกเสก ก็ต่างออกไป ตามแต่ความมุ่งหมายของชื่อนะเหล่านั้น เช่น เป็นนะทางคงกระพัน ถ้าเป็นเมตตา ก็เสกด้วยคาถาบทที่ว่าด้วยเมตตา

แต่ปัญหาสำคัญในการที่จะเขียนนะอักขรวิเศษเหล่านั้น จำเป็นจะต้องเขียนขึ้นจากสูตรปถมังพินธุทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนะเช่นไร ชนิดใดก็ตาม การลงเบื้องแรก จำต้องเริ่มจาก พินธุ ทัณฑะ เภทะ อังกุ สิระ เป็นลำดับกันไป และเมื่อสำเร็จเป็นรูปนะแล้ว จึงค่อยปลุกเสกตามคาถา ที่พึงปรารถนาจะให้เป็นไป เพราะเหตุที่สูตรปถมังพินธุ เป็นรากเง่าใหญ่ของการลงนะทั้งปวง จึงได้มีคำพังเพยของปราชญ์โบราณท่านกล่าวไว้ว่า “ปถมังพินธุ ผู้ใดได้เรียนแล้วนะมิต้องพักขอก็มาเอง”

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมเสือหลวงพ่อปาน จึงมีค่านิยมสูงนัก

* ข้อมูลจาก คุณเพชร ท่าพระจันทร์ คลิ๊กที่นี่

วิธีการดูเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ๔

มาตรฐานเสือของหลวงพ่อปาน คือ เสือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า ซึ่งมีทั้งเสือหุบปาก และเสืออ้าปาก

คาถาที่หลวงพ่อปาน ใช้ปลุกเสือ นำไปใช้กันได้ครับ

ตั้ง นะโม 3 จบ แล้วว่า

"โอม พยัคโฆ พยักฆา สูญญา ลัพพะติ

อิติ ฮัม ฮัม ฮึม ฮึม" (ว่าคาถา 3 จบ แล้วอฐิษฐานเลยครับ ตอนว่าคาถา ฮัม

ฮัม ฮึม ฮึม ให้ออกเสียงน่าเกรงขามหน่อยจะดีครับ ปลุกตนไปด้วย)

นอกจากเสือหลวงพ่อปาน แล้วยังมีเสือของหลวงพ่อเรือน ด้วยเพราะท่านไปเรียนวิชาทำเสือมาพร้อมกัน

เสือหลวงพ่อปาน หลวงพ่อเรือนนี่จะยุค ร.5 ถ้ามาหลวงพ่อนก ก็จะยุค ร .7 ก็เก่าเหมือนกันนะ แต่ท่านจะจารคนละแบบ พอแยกแยะได้ นอกจากนี้ยังมีหลวงพ่อสาย และหลวงพ่อทอง จะสร้างต่อๆมาอีก ซึ่งเนื้อจะยังไม่จัดเท่าหลวงพ่อปาน

ค่อยๆคุยกันครับ ว่าจะเขียนเรื่องรอยจาร และ เนื้อเขี้ยว สีเขี้ยว ซึ่งดูยังไงว่าถึงยุคหลวงพ่อปานนะครับ และวิธีดูรอยกลวงของเขี้ยวเสือ ว่าดูยังไงเป็นเขี้ยวเสือ อันไหนเป็นเขี้ยวอย่างอื่น และฝีมือช่างยุคหลวงพ่อปานนี่เอกลักษณ์จะไม่ทิ้งกันครับ ใครมีข้อมูล รูปภาพอะไร มาแลกเปลี่ยนความรู้ กันครับ

เขี้ยวเสือของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ยนี่ จะต้องทำจากเขี้ยวเสืออย่างเดียวเท่านั้น จะไม่ใช่เขี้ยวชนิดอื่นๆ จะมีทั้งเต็มเขี้ยว และเขี้ยวซีก มีคุณสมบัติทึบแสง

อือ ลืมบอกไป เขี้ยวสัตว์ที่ถือว่าเป็นของทนสิทธิ์ ในตัว ถ้าเป็นเขี้ยวหมูจะต้องตัน ซึ่งเขี้ยวหมูตันจะหายาก ถ้าเป็นเขี้ยวเสือต้องกลวงครับ เขี้ยวเสือกลวงจะมีอำนาจในตัวมากครับ บางท่านเรียก เขี้ยวโปร่งฟ้า ครับ เป็นเขี้ยวของพญาเสือโคร่ง มีอำนาจ มีตบะมาก แค่จ้องสัตว์ สัตว์จะเหมือนถูกตรึงอยู่กับที่ แทบหมดเรี่ยวแรงที่จะหนีเลย

เนื่องจากเขี้ยวเสือนั้น จะหายากมาก แม้ในยุค ร. 5 เสือยังมีชุกอยู่ในไทยก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆนะครับ ดังนั้น เมื่อได้เขี้ยวมาจึงนำเขี้ยวมาแบ่ง เขียว 1 เขี้ยวถ้าเป็นเสือตัวใหญ่จะแบ่งได้ถึง 5 ท่อน สามารถนำมาแกะเสือได้ 5 เสือ ทีเดียว

ถ้าแบ่งเป็นเขี้ยวซีกก็จะมาแกะได้เสือได้มากกว่า 5 เสือ โดยแบ่งเขี้ยวเป็นครึ่งๆ เมื่อนำมาแกะจะได้เสือตัวเล็กใหญ่แตกต่างกันออกไป

พูดถึงการจารยันต์ของหลวงพ่อปานนี่ ถ้าจารแบบครบสูตรจริงๆ

จะมีดังนี้ครับ

1.จารที่ขาหน้าใต้คาง 2 ข้าง ซึ่งอักขระที่ ลง มักจะเป็นตัว อุ ซึ่ง มีทั้ง อุ หัวคว่ำ และอุ หัวหงาย ลายมือดูจะเป็นธรรมชาติมาก และจะมีเอกลักษณ์ของท่านเอง

2.จารที่บริเวณสีข้างเสือ บริเวณด้านข้าง ไม่ใช่สีข้างทีเดียว ท่านจะลงบริเวณ สโลบด้านข้างระหว่างสีข้าง กับหลัง อาจลงข้างละ 2 ตัว รวม 2 ข้างลงอักขระ 4 ตัว ท่านมักจะลงยันต์ เป็นลักษณะคล้าย เลข 7 ไทย หรือเลข 3 ไทย มี 3 ขยัก หางตวัด การวาง และการลงเหล็กจาร จะเขียนตัวเอียงๆ และเรียบร้อย การลงเส้นหนักเบาจะแลดูเป็นธรรมชาติ ถ้าเป็นขีดๆ แบบเลข 7 แต่มี 4 หรือ5 ขยัก และลงแบบดูไม่รู้เรื่อง จะไม่ใช่ ระวังให้ดี ครับ

3.บริเวณกลางหลังเสือ ท่านจะลงจารอักขระอีกหลายตัวเป็นแถวลงมา จากหัวถึงหาง

4.บริเวณใต้ฐาน จะจารยันต์กอหญ้า และถ้ามีพื้นที่มาก ท่านจะลงยันต์กอหญ้า 2 ตัว ตรงข้ามกัน และถ้าเต็มสูตรท่านจะลงตัว ฤ ฤา และตัวอุ ด้วย และลงรอยขีดขีด 2 เส้นขนานกัน ถ้ามีพื้นที่น้อยจะลงยันต์กอหญ้าเพียงตัวเดียว ลายยันต์กอหญ้านี่แหละที่เป็นตัววัดว่าใช้เสือหลวงพ่อปานไหม ต้องจำลายมือท่านให้แม่น + องค์ประกอบอื่นๆด้วย

มีเสือบางเสือ ที่ ท่านจารยันต์เต็มไปหมดทั้งตัวเลยก็มี น่าจะเป็นยุคต้นที่ท่านยังมีเวลามาก

การดูสีเขี้ยว สีของเขี้ยวขึ้นอยู่กับการใช้ หรือการเก็บ ไม่ว่าจะเป็นเขี้ยวเต็ม หรือเขี้ยวซีก ตามธรรมชาติ สีของเขี้ยวจะไม่เสมอกันเด็ดขาด สีของเนื้อเขี้ยวด้านที่อยู่ใกล้รูตรงกลางจะมีสีอ่อนกว่าสีเขี้ยวที่อยู่ริม นั่นแสดงว่าเขี้ยวซีกที่ผ่าครึ่งเช่นกัน ด้านหนึ่งต้องสีอ่อน ด้านหนึ่งสีแก่ ถ้าสีเท่าๆกัน อาจเป็นเขี้ยวทอดน้ำมันได้ หรือย้อมสีได้

รูเขี้ยว ตามธรรมชาติ รูของเขี้ยวเสือหลวงพ่อปานจะต้องเป็นรูปวงรี หรือกลม แบบธรรมชาติ (ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นวงรี) ยาวทะลุผ่านตลอดจากบนลงล่างตลอดแนวเขี้ยว ไม่มีขุย ไม่มีรอยเจาะ ไม่มีรอยตะไบ รอดปาด ไม่มีการใช้สว่านเจาะเด็ดขาด ของปลอมมักจะใช้สว่านเจาะ และถ้ารูเป็นรูป 3 เหลี่ยม มักเป็นเขี้ยวหมี หรือถ้ารูแปลกๆก็จะเป็นรูเขี้ยวสัตว์ประเภทอื่นๆครับ

แถมท้าย พิมพ์ของเสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย พิมพ์มาตรฐานที่ถูกต้อง ขาด้านหน้า 2 ขาจะใหญ่ และการแกะเท้าจะเป็นลักษณะเหมือนจิกลงพื้น ส่วนหางนั้นจะแกะพันไปด้านข้าง บางตัวถ้าพื้นที่น้อย หางจะแกะพาดไปบนหลัง และบางตัวเล็กๆ หรือพื้นที่เขี้ยวไม่พอ หางจะไม่แกะ หรือแกะก็ไม่ชัดนักก็ได้

การแกะเขี้ยวเสือนั้นสมัยก่อนจะใช้มีดแกะทั้งนั้น ถ้าเป็นเสือที่แกะเรียบร้อยเกิน เขาจะใช้เครื่องกรอฟันทันสมัยแกะ ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีครับ ลองสังเกตุรอยแกะเขี้ยวให้ดี

ขออีกนิด เสือหลวงพ่อปาน จะแบ่งศิลปะการแกะหลักๆ ได้ 3 ที่

1. ศิลปะหลัก คงแกะโดยช่างกลุ่มเดียวกันมีหลายท่าน แกะกันบริเวณใกล้วัด ผมสังเกตุเสือหลายตัวของกลุ่มนี้แล้ว ศิลปะจะไม่ค่อยหนีกันเท่าไหร่ ซึ่งก็คือ เสือที่ผมถ่าย และนำมาจากเว็ปอื่นมาลงไว้ด้านบนนี้ละครับ ถ้าจำศิลปะได้จะพอแยกแยะได้

2. ศิลปะโดยช่างฝีมือชาวบ้าน มีมากมายหลายแบบ เพราะหลวงพ่อท่านธุดงค์ไปทั่ว บางครั้งชาวบ้านจะแกะมาเอง แล้วดักรอให้ท่านเมตตาปลุกเสกให้ อันนี้ต้องดูความเก่า และรอยจารเป็นสำคัญ

3. ศิลปะช่างวัดกลาง น่าจะเป็นวัดกลาง จ.สมุทรปราการ หรือเปล่าคุณโตช่วยบอกด้วย เห็นเขาเรียก วัดกลาง วัดกลาง ข้อมูลเสือแกะวัดกลางผมมีไม่มาก แต่เท่าที่สังเกตุจะเป็นเขี้ยวซีก และแกะเสือแบบแปลกๆไม่เหมือนกัน

สำหรับท่านที่ไม่ทราบ คำว่า เขี้ยวซีก ซึ่งก็คือ เขี้ยวเสือ นำมาผ่าครึ่งในแนวบนลงล่าง แล้วนำมาแกะ เขาเรียกเขี้ยวซีก ส่วนถ้านำมาทั้งเขี้ยว แล้วตัดในแนวซ้ายไปขวา จะมีรู เขาเรียกเต็มเขี้ยว

เขี้ยวซีก จะดูยังไงว่าเป็นเขี้ยวเสือ หรือเขี้ยวอื่น ให้ดูรอยลานด้านฐาน จะมีรอยลานเข้าหากลางเขี้ยวครับสังเกตุให้ดี และอีกอย่างเขี้ยวเสือจะมีสีไม่เสมอกันทั้งเขี้ยวนะครับ ถ้าสีเสมอกันทั้งเขี้ยวระวังครับ

* ข้อคิดเห็นจากคุณ นิลศิลป์ เว็บพลังจิต คลิ๊กที่นี่

วิธีการดูเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ๓

เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน... ดูไม่ดี เจอเก๊เป็นฝูง ไม่ใช่เขี้ยว แต่เป็นกระดูกอะไรไม่รู้ เครื่องรางของขลังชิ้นเอก ที่จะกล่าวถึงอยู่ในอันดับต้นของวงการ นั่นคือ “เสือ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย”

เครื่องรางของขลัง ได้รับความนิยมสูงมากในช่วงปัจจุบัน มีหนังสือเครื่องรางดีๆ ออกมาหลายเล่ม มีคนสนใจซื้อหาสะสมเครื่องรางจำนวนมาก ส่งผลให้ของแท้ของเก๊ปะปนกันคึกคัก โดยเฉพาะเครื่องรางของขลังชั้นสูง ยุคเก่า อาจารย์ดังสร้าง ราคาว่ากันเป็นแสนๆ ถึงหลักล้าน ของปลอมหลอกต้มด้วยการผลิตเลียนแบบเนี้ยบสุดโหด

เสือปลอมทำออกมานานแล้ว มีทั้งประเภทใช้เรซิ่นหล่อ แกะใหม่จากกระดูก และแกะเขี้ยวขึ้นมาใหม่ทั้งตัว นำไปคั่วไฟให้เข้ม ขัดแล้วย้อมด้วยเคมีให้ดูฉ่ำ สำหรับรอยจารขยุกขยิก ไม่ชำนาญก็อาจดูไม่ออก ไม่กี่ปีก่อน เคยมีนักสะสมชะล่าใจ เหมาเสือทั้งฝูง ปรากฏว่าเจอเก๊ยกฝูงก็เคยมีมาแล้ว ของแท้มีน้อยครับ เอาชัวร์ๆ ก็ต้องผ่านกันหลายตา แต่ถ้าชื่นชอบส่วนตัว ไม่สนตาชาวบ้าน ก็ตัวใครตัวมัน ลองมาเรียนรู้ วิธีดู “เสือ หลวงพ่อปาน” ขั้นเบสิค กันสักนิดครับ

ยุคสมัยของหลวงพ่อปาน อยู่ในช่วงระหว่างปี 2411-2453 เป็นช่วงที่ท่านเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนา ออกธุดงค์ เป็นพระอธิการวัดบางเหี้ย เป็นพระครูพิพัฒนนิสิรธกิจ จนกระทั่งถึงกาลมรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อปี 2453 (ประมาณอายุ 75-80 ปี)เครื่องรางของขลัง ที่หลวงพ่อปานสร้างไว้ ล้วนเป็นที่ต้องการของนักเล่นเครื่องราง ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด ผ้ายันต์ ฯลฯ และเหนืออื่นใด อันถือเป็นราชันย์แห่งเครื่องรางของขลัง มีราคาสูงที่สุด ก็คือ เครื่องรางฯ ที่แกะจากเขี้ยวเสือ เป็นรูปเสือขนาดต่างๆ

“เสือ หลวงพ่อปาน” เป็นเสือแกะขึ้นจากเขี้ยวเสือด้วยฝีมือเรียบง่าย แต่มีเอกลักษณ์เชิงช่างอยู่ในตัวเอง มีคุณค่าทางศิลปะ ผ่านการปลุกเสกด้วยวิชาเฉพาะของหลวงพ่อปานจนเสือสามารถเคลื่อนไหวลุกนั่งได้ทุกตัว ทำให้เสือเจ้าป่ามีตบะเดชะมหาอำนาจสูงมาก เสือหลวงพ่อปาน แบบมาตรฐาน จะต้องอยู่ในรูปฟอร์ม เสือหน้าแมว นั่งชันขาหน้า หางม้วนรอบฐาน หรือม้วนพาดขึ้นหลัง มีทั้งเสือหุบปากและเสืออ้าปาก นิ้วเท้าแต่ละเท้ามี 4 นิ้ว (3 นิ้วก็มีแต่น้อย) ใต้ฐานจารยันต์กอหญ้า(เส้นวนๆ) รอตัวจารอักขระยันต์คล้ายเลขไทย ๓ และเลข ๗ รอยจารเฉียงๆ แหลมๆ ดูคล้ายลายเสือ เอกลักษณ์เสือหลวงพ่อปาน โดยรวมสามารถร้อยเป็นวลีได้ว่า “เสือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า”

ราชันย์แห่งเขี้ยว... เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

จุดสังเกตวิธี ดูเขี้ยวเสือของแท้ ดังได้กล่าวมาจากตอนที่แล้วว่า เสือหลวงพ่อปาน แกะจากเขี้ยวเสือของแท้ ได้รับความนิยมสูงมากในระดับราชันย์แห่งเขี้ยว เป็นหนึ่งไม่มีสองตลอดกาล เสือฟอร์มปึ้ก เก่าแท้ดูง่าย มีราคาสูงถึงหลักล้าน... ด้วยเหตุนี้เขี้ยวปลอมๆ จึงระบาดหนักเป็นเวลานานมากแล้ว ลองมาศึกษาการ “ดู” เสือหลวงพ่อปาน เป็นเบสิคพื้นฐานกันดีกว่า (ข้อมูลพื้นฐานใช้ดูเบื้องต้น แต่หากต้องซื้อหาในราคาสูง ควรพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญที่มีชั่วโมงบินสูง ผู้ที่เคยเห็นของแท้มาแล้วจำนวนมากพอ)

1.เสือต้องแกะจากเขี้ยวเท่านั้น จะไม่แกะจากกระดูกหรือวัสดุชนิดอื่น เขี้ยวมีเนื้อทึบแน่น ผิวเนียน ไม่โปร่งใสแสงส่องผ่านได้ (พึ่งระวังเสือวัสดุพลาสติกหรือเรซิ่น ถ้าเผาไฟจะละลายทันที

2.เขี้ยวเสือที่นำมาแกะจะมีทั้งเขี้ยวเต็มอัน และเขี้ยวครึ่งซีก(เรียกว่า เขี้ยวซีก) เขี้ยวเต็มอันจะมีรูกลมตรงกลางผ่านตลอดจากบนลงล่าง “มีรอยแตกอ้า” ส่วนเขี้ยวครึ่งซีกไม่มีรอยแตกอ้า ด้านหนึ่งต้องมีสีอ่อน อีกด้านมีสีแก่ ด้านที่มีสีอ่อนคือด้านแกนในของเขี้ยว ด้านที่มีสีแก่คือด้านนอกของเขี้ยว เขี้ยวซีกต้องมีมีอ่อนแก่จะมีสีเดียวกันทั้งอันไม่ได้

3.ความเก่าพิจารณาจากความฉ่ำและคราบผิวของเนื้อเขี้ยว ถ้าผ่านการใช้ไม่มากผิวจะแห้งเก่าไม่ตึงเรียบ แต่ส่วนใหญ่มักผ่านการใช้จนผิวฉ่ำเพราะสัมผัสเหงื่อ ความชื้นและความมันของร่างกายคนเรา เนื้อเขี้ยวจึงดู “ฉ่ำ” คล้ายเนื้อสับปะรดหรือเทียนไข เนื้อมีสีอ่อน/แก่ เป็นธรรมชาติ มีลายในเนื้อ และมีรอยแตกรานเล็กๆ เป็นกลุ่มเพราะการแห้งหดตัว

4.รอยจาร เป็นจุดสำคัญที่ใช้พิจารณา ลักษณะเป็นการจารหวัดๆ ไม่พิถีพิถัน เส้นคมเล็กบางไม่เท่ากัน จารเป็นขีดๆ แบบลายเสือ และจารอักขระยันต์คล้ายเลขเจ็ดไทย(๗) หรือเลขเก้าไทย(๙) ลายมือจารเอียงๆ แหลมๆ ส่วนใหญ่จะเห็นชัดบริเวณลำตัว สะโพก ขาหน้า

5.รอยจารใต้ฐาน เรียกว่า “ยันต์กอหญ้า” ลักษณะเป็นยันต์กลมรี วนไปมาเป็นก้อนกลมซ้อนกันหลายวง และยังมีตัว ฤ ฦ ตัวอุ รอยเส้นจารต้องเป็นรอยเก่า เส้นมนๆ ขอบร่องเส้นไม่คมชัดอย่างรอยจารใหม่

* ข้อมูลโดย ผู้เขียน Thaipra.com คลิ๊กที่นี่

วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2553

ประวัติหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย



คาถาหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย (วัดมงคลโคธาวาส) คลองด่าน

พุทธะเสฏโฐ มะหานาถัง
วัณณะ โก สิงหะนาทะกัง
พุทธะสิระ สา เตเชนะ
มาระเสนา ปะ ราชะยัง
ชัยยะ ชัยยะ ภะวันตุ เม ฯ

หลวงพ่อปานเป็นชาวบางบ่อ ท่านเกิดที่ คลองนาง โหง ตำบลบางเหี้ย (ตำบลคลองด่านในปัจจุบัน) จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ตาเป็นคนจีนชื่อ เขียว ยายเป็นคนไทยชื่อ ปิ่น บิดามีเชื้อจีน ชื่อ "ปลื้ม" มารดาเป็น คนไทย เป็นลูกสาวคนโตของยายปิ่น ชื่อ ตาล อาชีพทำป่าจาก ครอบครัวของท่านอยู่ที่หมู่บ้านโคกเศรษฐี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ ///คนที่๑ ชื่อ นายเทพย์ - คนที่๒ ชื่อ นายทัต - คนที่๓ ชื่อ นายปาน (หลวงพ่อปาน)- คนที่๔ ชื่อนายจันทร์ - คนที่๕ ชื่อนางแจ่ม ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ ลูกหลานของหลวงพ่อปาน ได้ใช้ชื่อของบรรพบุรุษมาตั้งเป็นนามสกุลว่า "หนูเทพย์"

เมื่อตอนเป็นเด็ก บิดามารดาได้นำไปฝากไว้กับท่านเจ้าคุณศรีศากยมุนี เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) เพื่อให้เรียนหนังสือไทย ต่อมาไม่นานเจ้าคุณได้ให้บรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาท่านได้สึกจากเณร มาช่วยพ่อแม่ ประกอบอาชีพ ทำจาก และตัดฟืนไปขายเป็นอาชีพประจำ ท่านเป็นผู้มีนิสัยอดทนหนักเอาเบาสู้ ทำให้พ่อแม่เบาใจมาก

เมื่อยัง เยาว์ ท่านได้ใช้ชีวิตแบบชาวชนบทคนธรรมดา ครั้นเมื่อเติบโตสู่วัยหนุ่ม เริ่มมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันในเพศตรงข้ามตามวิสัยปุถุชน วันหนึ่งท่านได้ดั้นด้นไปบ้านสาวคนรัก แต่พอล้างเท้าก้าวขึ้นบันได เกิดอัศจรรย์ขึ้นบันไดไม้ตะเคียนอันแข็งแรงพลันหลุดออกจากกัน ทำให้ท่านพลัดตกจากบันได ท่านจึงคิดได้ว่าเป็นลางสังหรณ์บอกถึงการสิ้นวาสนาในทางโลกเสียแล้ว เมื่อกลับถึงบ้านจึงครุ่นคิดตัดสินใจอยู่หลายวัน ผลที่สุดจึงตัดสินใจออกบวช

เมื่ออายุครบบวชจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดอรุณ ราชวรารามนั่นเอง โดยมีท่านเจ้าคุณศรีศากยมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงไสยศาสตร์ ท่านได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์หลายองค์จนเชี่ยวชาญ ภายหลังได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดบางเหี้ยนอก ปัจจุบัน เรียกว่าวัดมงคลโคธาวาส โดยมีพระที่เป็นสหายสนิทตามมาด้วยองค์หนึ่งชื่อ หลวงพ่อเรือน หลังออกพรรษาท่านและพระเรือนเริ่มออกธุดงค์ไปสถานที่ต่างๆ

หลวงพ่อปานและหลวงพ่อเรือนได้ดั้นด้นไปจนถึง"วัดอ่างศิลา" อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี และได้ฝากตัวเป็นสานุศิษย์ของ"หลวงพ่อแตง" เจ้าอาวาสวัดอ่างศิลา โดยศึกษาด้านวิปัสนาธุระ ไสยเวทย์มนต์ต่าง ๆ จนเชี่ยวชาญและสร้างชื่อเสียงให้หลวงพ่อปานเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะ " เขี้ยวเสือโคร่ง ซึ่งแกะเป็นรูปเสือนั่ง " เมื่อมีความเชี่ยวชาญแล้วจึงได้อำลาพระอาจารย์ "หลวงพ่อแตง" มาพำนักอยู่ที่วัดบ้านเกิดตนเองพร้อมด้วยพระอาจารย์เรือน เพื่อนสหาย ณ วัดบางเหี้ย (ปัจจุบันคือวัดมงคลโคธาวาส) และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสโดยมีหลวงพ่อเรือนเป็นรองเจ้าอาวาส ซึ่งทั้งสองรูปได้ปกครองพระลูกวัดทั้งด้านการศึกษาและการปฏิบัติธรรมอย่าง เคร่งครัดมาตลอด

จน กระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ประตูน้ำที่กั้นแม่น้ำบางเหี้ย หรือประตูน้ำชลหารพิจิตรในปัจจุบัน ได้เกิดรั่วไม่สามารถปิดกั้นน้ำให้อยู่ได้ไม่ว่าช่างจะซ่อมอย่างไร จนกระทั่งข้าราชการในท้องถิ่นได้นำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวรัชกาลที่ ๕ ให้ทรงทราบเพื่อขอพึ่งพระบารมีพระองค์ท่าน

ระหว่างที่ประทับอยู่ที่ประตูน้ำบางเหี้ยเป็นเวลา ๓ วันนั้น พระองค์ได้รับสั่งให้นิมนต์หลวงพ่อปานเข้าเฝ้าฯ เพื่อไต่ถามเรื่องต่างๆ โดยขณะที่หลวงพ่อปานเดินทางเข้าเฝ้าฯ นั้นได้ให้เด็กชายป๊อด ถือพานใส่เขี้ยวเสือที่แกะเป็นรูปเสือไปด้วยซึ่งสมัยนั้นแกะจากเขี้ยวเสือ จริงๆ เมื่อไปถึงที่ประทับ หลวงพ่อได้เรียกเอาพานใส่เขี้ยวเสือจากเด็กชายป๊อดที่ถืออยู่ แต่พบว่าไม่มีเขี้ยวเสืออยู่ในพานแล้วโดยเด็กชายป๊อดบอกว่าเสือกระโดดลงน้ำ ระหว่างทางจนหมดแล้ว

หลังจากหลวงพ่อปานทราบจึงได้ให้นำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปหมู แล้วเสียบไม้แกว่งล่อเสือขึ้นมาจากน้ำต่อหน้าพระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งประทับทอดพระเนตรอยู่ตลอด จนถึงกับตรัสกับหลวงพ่อปานว่า "พอแล้วหลวงตา" สำหรับเขี้ยวเสือหลวงพ่อปานนั้นได้จัดทำด้วยช่างแกะถึง ๖ คน จึงมีรูปร่างไม่เหมือนกันมีทั้ง อ้าปาก หุบปาก โดยช่างทั้งหมดจะเอาแมวมาเป็นต้นแบบในการแกะ

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง”เสด็จประพาส มณฑลปราจิณ” ได้เล่าถึงพระปานไว้ว่า “พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้นิยมกันในทางวิปัสสนา และธุดงควัตร มีพระสงฆ์วัดต่างๆ ไปธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมที่วัดบางเหี้ย มีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยง กินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน ทางที่เดินนั้น ลงไปบางปลาสร้อย แล้วจึงเวียนกลับขึ้นไปปราจิณ นครนายก ไปพระบาท แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ถ้ามาตามทางรถไฟ แต่ไม่ขึ้นรถไฟ เว้นแต่พระที่เมื่อยล้าเจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพฯกลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินทางอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับไปวัดอยู่ในราวเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา ๔๐ ปีแล้ว

คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือ ให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากคือ เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสก ต้องใช้หมู ปลุกเสกเป่าไปข้อไร เสือนั้นกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบาก เหน็ดเหนื่อยในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ในป่าช้า ที่พระบาทฯ (สระบุรี) ก็หนีไปอยู่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ ในการทำอะไรๆ ขาย เวลาแย่งชิงก็ขึ้นไปถึง ๓ บาท ว่า ๖ บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัธยาศัยเป็นคนแก่ใจดีมีกิริยาเรียบร้อย อายุ ๗๐ แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย มีคนมาช่วยพูด" จะเห็นว่า ในพระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสเมืองปราจิณ” ได้เล่าถึง “พระปาน” อย่างละเอียด สิ่งสำคัญยิ่งก็คือ เครื่องรางเขี้ยวเสือที่ทำเป็นรูปเสือ ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ราคาเช่าตัวละ ๑ บาทบ้าง ๓ บาทบ้าง ๖ บาทบ้าง ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากในสมัยนั้น

ต่อมาท่านได้ไปเรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์ที่วัดสมถะ จังหวัดชลบุรีด้วย หลวงพ่อปาน เป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติธรรมวินัยเคร่งครัด กิจของสงฆ์หลวงพ่อปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน อีกประการหนึ่งคือนำ พระสงฆ์ออกบิณฑบาตทุก ๆ เช้า นอกจากเจ็บป่วยไป ไม่แล้วท่านปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน อีกประการหนึ่ง คือนำพระสงฆ์สวดมนต์เช้าเย็นที่หอสวดมนต์เป็นประจำทุกวัน และสวดมนต์เป็นคัมภีร์หรือผูกเป็นเล่มเป็นวัน ๆ ไป กระทั่งสวดปาฏิโมกข์ เหตุดังนี้ในสมัยนั้น พระลูกวัดของท่านจึงสวดมนต์เก่งมาก

ด้านสาธารณประโยชน์ หลวงพ่อเป็นผู้นำในการสร้างถนนจากคลองด่านไปบางเพรียง ถนนจากวัดมงคลโคธาวาสไปวัดสว่างอารมณ์ ถนนจากวัดมงคลโคธาวาสจรดคลองนางหงษ์ ถนนแต่ละสายปัจจุบันได้พัฒนาเป็นถนนถาวรและใช้สัญจร ไปมาจนถึงทุกวันนี้

ด้านความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป เป็นพระอาจารย์ ที่มีญาณแก่กล้าชื่อเสียงโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ ๕ เครื่องรางของขลัง ของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธามากและสืบ เสาะหากันจนทุกวันนี้ ท่านคร่ำเคร่งทางวิปัสสนามากและ ธุดงค์อยู่เสมอ ด้วยคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่งของหลวงพ่อที่ได้ประกอบขึ้นไว้ แต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ราษฎรในตำบลใกล้เคียง กระทั่งต่างอำเภอและต่างจังหวัดพากันเคารพนับถือและรำลึก ถึงหลวงพ่ออย่างไม่ เสื่อมคลาย

ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้น ประชาชนที่มีความเคารพบูชาหลวงพ่อ ได้พร้อมใจกันหล่อรูปท่านขึ้นมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่าองค์จริง เพื่อไว้เป็นที่เคารพบูชา เพราะหลวงพ่อไม่ค่อยได้อยู่วัด ท่านมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นประจำ จะได้กราบรูปหล่อแทนตัวท่าน แต่เมื่อหล่อรูปแล้วท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด ท่านมักจะปลีกตัวไปจำวัดที่พระปฐมเป็นประจำ การที่ท่านไม่อยากเข้าวัดของท่านนั้น อาจเป็นเพราะท่านรู้ล่วงหน้าว่าถึงคราวจะหมดอายุขัยแล้ว ท่านจึงต้องการความสงบในการพิจารณาธรรม แต่ท่านก็ไม่ได้บอกกับใครๆ เมื่อญาติโยมอ้อนวอนมากๆ เข้า ท่านก็บ่ายเบี่ยงไปว่า “เข้าไปไม่ได้ อ้ายดำมันอยู่ ขืนเข้าไปอ้ายดำมันจะเอาตาย” คำว่า “อ้ายดำ” หมายถึงรูปหล่อของท่านนั่นเอง ปัจจุบันนี้รูปหล่อของท่านก็ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาส (วัดคลองด่าน หรือวัดบางเหี้ย) คืออยู่ที่กุฏิของหลวงพ่อซึ่งได้จัดสร้างขึ้นใหม่ และปรากฏความศักดิ์สิทธิ์มากมาย น้ำมนต์ที่หน้ารูปหล่อของท่านก็มีคนนำไปดื่ม และทองคำเปลวที่รูปหล่อก็มีคนนำไปปิดที่หน้าผาก เพื่อรักษาโรคได้ผลมาแล้วมากมาย

ด้านสมณศักดิ์ หลวงพ่อปาน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ" ท่านมรณภาพเมื่อ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๕๓ เวลา ๔ ทุ่ม ๔๕ นาที พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๔

เมืองสมุทรปราการ เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่ง มีวัดพุทธศาสนาอยู่ ๑๐๐ กว่าวัด มีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่หลายสำนัก เท่าที่ผ่านมา พระอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคม แก่กล้าด้วยพระเวทย์ ในย่านบางบ่อเห็นจะไม่มีใครเกิน หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ยไปได้ (ความจริง ”เหี้ย” นี่เป็นชื่อของสัตว์เลื้อยคลานพันธุ์หนึ่ง แต่คนนำมาใช้ด่าว่ากัน จึงกลายเป็นคำไม่สุภาพไป) เนื่องจากท่าน ได้ล่วงลับมาเป็นเวลานาน และท่านไม่ได้เล่าถึงชีวิตในอดีตของท่านให้ลูกศิษย์ทราบ ข้อมูลชีวประวัติของท่านจึงมีน้อย ทราบเพียงว่า

ท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ที่ตำบลคลองด่าน ตาเป็นคนจีนชื่อ เขียว ยายเป็นคนไทยชื่อปิ่น โยมพ่อไม่ทราบชื่อ แต่โยมแม่ชื่อตาล เป็นลูกสาวคนโตของยายปิ่น ในตอนเยาว์วัย ท่านได้บรรพชา เป็นสามเณรที่วัดแจ้ง หรือวัดอรุณฯ กรุงเทพฯ เพื่อเรียนหนังสือ ไทย หนังสือขอม มูลกัจจายน์ และหนังสือใหญ่ ต่อมาท่านได้สึกจากเณร มาช่วยพ่อแม่ ประกอบอาชีพ ทำจาก และตัดฟืนไปขายเป็นอาชีพประจำ ท่านเป็นผู้มีนิสัยอดทนหนักเอาเบาสู้ ทำให้พ่อแม่เบาใจมาก

ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ท่านก็ได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดอรุณฯ โดยมีพระศรีศากยมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วก็ได้อยู่ศึกษากับพระอุปัชฌาย์หลายปี ท่านมีความสนใจในทางกรรมฐานเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นท่านได้กราบลามาอยู่ วัดบางเหี้ย ตำบลบางเหี้ย อำเภอบางบ่อ ท่านประพฤติปฏิบัติ เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย เจ้าอาวาสขณะนั้น ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ปกครองดูแลพระเณร ออกพรรษาแล้วท่านก็ออกรุกขมูล บุกดงพงป่าเพื่ออบรมสมาธิฝึกกรรมฐาน แสวงหาความรู้วิทยาคมจากสำนักอาจารย์ที่มีชื่อเสียง รู้ว่าอาจารย์ที่ไหนดี ท่านก็บุกไปจนถึงเพื่อขอศึกษาอาคมกับอาจารย์นั้น ท่านสนใจในวิชาไสยศาสตร์ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงไม่มีความยากสำหรับท่าน เมื่อมีความชำนาญแคล่วคล่องในเวทย์มนต์ ก็ทำให้เกิดความขลัง ความรู้ความสามารถก็ทวีเป็นเงาตามตัว ต่อมาท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ปกครองสงฆ์ดูแลวัด

หลวงพ่อปานฯ กับหลวงพ่อวัดกระบกต้นผึ้ง จังหวัดระยอง (ซึ่งได้พบกันในระหว่างธุดงค์) ได้ชวนกันไปเรียนวิทยาคมการปลุกเสกเสือ จากอาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งพร้อมกัน (ไม่ทราบชื่อ และสำนักของอาจารย์ท่านนั้น) ขณะที่เรียนอยู่นั้น เมื่อเรียนถึงขั้นทดลองพิสูจน์ดู โดยเอาเสือใส่บาตร หรือในโหลให้เอาไม้พาดไว้ ปลุกเสกจนเสือออกมาจากบาตร หรือจากโหลหายเข้าป่าไป ถ้าใครภาวนาเรียกเสือกลับมาได้ก็จะให้เรียนต่อไป ถ้าเรียกกลับมาไม่ได้ ก็ไม่ให้เรียน

หลวงพ่อปานวัดบางเหี้ย ปลุกเสกเสือออกจากบาตรเข้าป่าไปได้ และเรียกกลับมาได้ ส่วนหลวงพ่อวัดกระบกต้นผึ้ง ปลุกเสกเสือออกมาได้เข้าป่าไปเช่นกัน แต่เรียกเท่าไรๆ ก็ไม่กลับ ก็เป็นอันว่าหลวงพ่อปานเรียนต่อจนสำเร็จองค์เดียว หลวงพ่อวัดกระบกต้นผึ้งก็ต้องพักจากการเรียนเสือ ก็หันมาเรียน สร้าง และปลุกเสกแพะ จนสำเร็จ เมื่อได้วิทยาคมนี้ต่อมาก็มาเป็นอาจารย์ของหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก จังหวัดระยอง หลวงพ่ออ่ำนี่มีชื่อเสียงมากในการสร้างแพะ จนได้สมญาว่า “หลวงพ่ออ่ำแพะดัง” และหลวงพ่อวัดกระบกต้นผึ้งนี้ ก็เป็นอาจารย์ของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง ผู้โด่งดังมากในปัจจุบันนี้

นอกจากนี้หลวงพ่อปานฯยัง เป็นหัวหน้าสายรุกขมูล และสอนกรรมฐานอันลือชื่อ การออกธุดงควัตร ท่านจะเป็นอาจารย์ควบคุมพระเณร เช่นเดียวกับหลวงพ่อนก วัดสังกะสีซึ่งเป็นคณะธุดงค์อีกสายหนึ่ง ทั้งสองสายมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น หลวงพ่อปานนำพระเป็นร้อยรูป บางปีก็ถึงห้าร้อย พระกรรมฐานสองสายนี้ มีชื่อเสียงมาก่อนกรรมฐานสายอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น

เนื่องจากหลวงพ่อปานมี อาคมขลัง มีสมาธิจิตเข้มแข็ง เวลาออกรุกขมูลพักปักกลดอยู่ในป่า ตอนกลางคืนเดือนหงายๆ ท่านมักจะลองใจศิษย์ เนรมิตกายให้เป็นงูใหญ่ เลื้อยผ่านหมู่ศิษย์ไปบ้าง ทำเป็นเสือโคร่งเดินผ่านกลดศิษย์ไปบ้าง เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว

เนื่องจากหลวงพ่อปานได้ศึกษาวิทยาคม ในการสร้างเสือมาโดยสมบูรณ์แบบ ท่านก็เริ่มสร้างแจกจ่ายให้กับประชาชนแถวย่านบางเหี้ยก่อน ที่วัดจึงต้องต้อนรับประชาชน ที่พากันหลั่งไหลเข้าสู่วัดบางเหี้ยเพื่อรับแจกเสือ ตอนแรกคนแกะเสือก็มีเพียงคนเดียว ต่อมาต้องเพิ่มคนแกะเรื่อยๆ จนถึง ๔ คน และมากกว่านั้น แต่ที่มีฝีมือนั้นมีอยู่ ๔ คน ใครต่อใครก็พากันกล่าวขวัญว่า “เสือหลวงพ่อปาน” แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ยังรู้จัก และในสมัยนั้นไม่มีใครทำเลียนแบบ สำหรับหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยนั้น ท่านแก่กว่าหลวงพ่อปานวัดบางนมโค ๔๐ ปี และในจังหวัดสมุทรปราการ มีหลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ดังมากอีกองค์หนึ่ง หลวงพ่อปานเมื่อออกรุกขมูล พระเณรก็จะนำเอาเสือที่ปลุกเสกแล้วติดไปแจกประชาชนด้วย

ปรากฏว่าเสือของท่านมี ประสบการณ์ในทางอำนาจ และคงกระพันยอดเยี่ยม หรือจะใช้ในทางเมตตามหานิยม ค้าขายของก็ได้ผล พ่อค้าแม่ค้ามักจะไปขอเสือหลวงพ่อกันวันละมากๆ ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านจึงแพร่หลายโดยรวดเร็ว ยิ่งมีผู้รู้เห็นพิธีปลุกเสก เสือวิ่งในบาตรเสียงดังกราวๆ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนแห่แหนมารับแจกเสือกันไม่ขาดระยะ นอกจากนี้ จีนเฉย (อาแป๊ะเฉย) ซึ่งมีความคุ้นเคยกับหลวงพ่อปาน ถึงกับไปค้างที่วัดเป็นประจำ วันหนึ่งแกก็ไปที่วัดเช่นเคย แต่เอาหมูดิบๆ ไปด้วย เวลาดึกสงัดหลวงพ่อปลุกเสือแกก็เอาหมูแหย่ลงไปในบาตร ปรากฏว่าเสือติดหมูขึ้นมาเป็นระนาว แกยังสงสัยว่าแกจิ้มแรงจนเสือติดหมูออกมา ตอนหลังพอหลวงพ่อปลุกเสกจนเสือวิ่งในบาตร แกก็เอาหมูผูกกับไม้ แล้วชูหมูไว้เหนือบาตร ปรากฏว่าเสือที่อยู่ในบาตรกระโดดกัดหมู เหนือขอบปากบาตร จีนเฉยซึ่งเห็นกับตาตนเองก็นำไปเล่า จนข่าวเสือกระโดดกัดหมู เสือวิ่งในบาตร เสือกระโดดได้ แพร่สะพัดไปราวกับลมพัด ประชาชนต่างก็เห็นเป็นอัศจรรย์

หลวงพ่อกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมัยก่อนมีแม่น้ำอยู่สายหนึ่ง ซึ่งไหลผ่านป่าดงพงพีมีต้นน้ำอยู่แปดริ้ว มาลงทะเลที่สมุทรปราการ ทุกครั้งที่น้ำทะเลหนุน น้ำเค็มจะทะลักเข้าไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ทำให้ชาวบ้านในย่านนั้นได้รับความลำบาก สิ่งที่ไหลขึ้นมาตามน้ำคือตัวเหี้ย ตะกวด และจระเข้ จนต้องมีการทำประตูกั้นน้ำไว้เพื่อมิให้น้ำเค็มจากทะเลไหลขึ้นไปปนกับน้ำจืด และเพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลานที่มีอยู่ชุกชุม มิให้แพร่หลายไปตามคลองต่างๆ ด้วยเหตุที่มีสัตว์พวกนี้ชุกชุม ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบางเหี้ย” และคลองบางเหี้ย วัดก็ตั้งชื่อว่า วัดบางเหี้ย มี ๒ วัดคือวัดบางเหี้ยนอก กับวัดบางเหี้ยใน ประตูที่กั้นคลองนั้น มีชื่อเรียกกันปัจจุบันว่า “ประตูน้ำชลหารวิจิตร”

ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ประตูน้ำเกิดชำรุด ต้องทำการซ่อมแซมหลายครั้ง เมื่อแล้วเสร็จได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จไปที่ตำบลบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อที่จะทำพิธีเปิดประตูน้ำใหญ่ที่ตั้งอยู่ในคลองบางเหี้ย ปรากฏว่าทรงประทับอยู่ที่คลองด่านถึง ๓ วัน (ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดฯให้เปลี่ยนชื่อ ตำบลบางเหี้ย เป็น ตำบลคลองด่าน คลองบางเหี้ย เป็นคลองด่าน และอำเภอบางเหี้ย เป็นอำเภอคลองด่าน ) ...

บรรดาชาวบ้านที่อยู่ใน แถบถิ่น บางบ่อ บางพลี บางเหี้ย และบริเวณใกล้เคียง เมื่อรู้ข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวฯจะเสด็จมาเปิดประตูน้ำ ต่างก็พากันเตรียมของที่จะถวาย หลวงพ่อปานได้นำเขี้ยวเสือ ที่แกะอย่างสวยงามใส่พาน แล้วให้เด็กป๊อดซึ่งเพิ่งจะมีอายุ ๗-๘ ขวบหน้าตาดี เดินถือพานที่ใส่เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ ตามหลังท่านไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ริมคลองด่าน

เมื่อไปถึงที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หลวงพ่อได้เรียกเอาพานใส่เขี้ยวเสือจากเด็กผู้ติดตาม แต่เด็กคนนั้นบอกกับท่านว่า

“เสือไม่มีแล้ว เพราะมันกระกระโดดน้ำไปในระหว่างทางจนหมดแล้ว”

หลวงพ่อปานจึงได้เอาชิ้นหมูที่ทำขึ้นจากดินเหนียว แล้วเสียบกับไม้ แกว่งล่อเอาเสือขึ้นมาจากน้ำต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์ทรงตรัสว่า

“พอแล้วหลวงตา”

หลังจากนั้นหลวงพ่อได้ถวายเขี้ยวเสือแกะนั้นแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงพิจารณาชั่วครู่ จึงตรัสถามชื่อพระเถระรูปร่างสูงใหญ่ผู้ปลุกเสกเขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน ทูลว่าท่านชื่อปาน (ติสโร) เป็นเจ้าอาวาสวัดบางเหี้ย

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งกับพระปานว่า

“ได้ยินชื่อเสียง และกิตติคุณมานาน เพิ่งเห็นตัววันนี้”

แล้วรับสั่งถามว่า

“ที่แจกเครื่องรางเป็น รูปเสือมีความหมายอย่างไร ?”

หลวงพ่อปานทูลตอบว่า

“ได้ไปรุกขมูลธุดงค์ในป่า พบเสือใหญ่หลายครั้ง ได้สังเกตดูเห็นว่า “เสือ” เป็นสัตว์ปราดเปรียว ฉลาด ว่องไว เฉียบขาด มีตบะ และอำนาจ สามารถที่จะใช้ตาสะกดสัตว์อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ คนทั่วไปเรียกผู้ร้ายใจฉกรรจ์ว่า “ไอ้เสือ” ก็คือเอาความเก่งกาจของเสือมานั่นเอง การที่ทำเครื่องรางรูปเสือ มิใช่จะสนับสนุนให้คนกลายเป็น”อ้ายเสือ” เพียงแต่ต้องการเอาลักษณะของเสือจริงในป่า ที่ปราดเปรียว ว่องไว เฉลียวฉลาด เฉียบขาดมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพอพระทัยในคำตอบของพระปานยิ่งนัก (ด้วยท่านมิได้ โอ้อวดว่า เครื่องรางของท่านดีเด่น แต่ประการใด) ทรงพระราชทานผ้าไตร และผ้ากราบ (ต่อมาได้พระราชทานสมณศักดิ์ เป็น “พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ”)

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง”เสด็จประพาส มณฑลปราจิณ” ได้เล่าถึงพระปานไว้ว่า

“พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้นิยมกันในทางวิปัสสนา และธุดงควัตร มีพระสงฆ์วัดต่างๆ ไปธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมที่วัดบางเหี้ย มีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยง กินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน ทางที่เดินนั้น ลงไปบางปลาสร้อย แล้วจึงเวียนกลับขึ้นไปปราจิณ นครนายก ไปพระบาท แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ถ้ามาตามทางรถไฟ แต่ไม่ขึ้นรถไฟ เว้นแต่พระที่เมื่อยล้าเจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพฯกลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินทางอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับไปวัดอยู่ในราวเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา ๔๐ ปีแล้ว

คุณวิเศษที่คนเลื่อมใส คือ ให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากคือ เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสก ต้องใช้หมู ปลุกเสกเป่าไปข้อไร เสือนั้นกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้ (น่าจะหมายความว่า พอปลุกเสกได้ที่เสือจะกระโดดกัดเนื้อหมู เป็นอันใช้ได้น่ะครับ) ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบาก เหน็ดเหนื่อยในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ในป่าช้า ที่พระบาทฯ (สระบุรี) ก็หนีไปอยู่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ ในการทำอะไรๆ ขาย เวลาแย่งชิงก็ขึ้นไปถึง ๓ บาท ว่า ๖ บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัธยาศัยเป็นคนแก่ใจดีมีกิริยาเรียบร้อย อายุ ๗๐ แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย มีคนมาช่วยพูด"

จะเห็นว่า ในพระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสเมืองปราจิณ” ได้เล่าถึง “พระปาน” อย่าง ละเอียด สิ่งสำคัญยิ่งก็คือ เครื่องรางเขี้ยวเสือที่ทำเป็นรูปเสือ ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ราคาเช่าซื้อตัวละ ๑ บาทบ้าง ๓ บาทบ้าง ๖ บาทบ้าง ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก (ในสมัยนั้น กาแฟถ้วยละ ๑ สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๓ สตางค์ ข้าวผัดจานละ ๕ สตางค์) หลังจากเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจ ก่อนที่ท่านจะเสด็จกลับเมืองหลวง พระองค์มีรับสั่งกับหลวงพ่อปานว่า

“ฟ้าไปก่อน แล้วให้พระท่านไปทีหลัง”

พระราชดำรัสนี้ทำให้ทุกคนพิศวง เพราะไม่เข้าใจความหมาย (ยกเว้นหลวงพ่อฯ) แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี พระองค์ท่านก็เสด็จสวรรคต และต่อจากนั้นไม่ถึงปี หลวงพ่อปานก็มรณภาพลงเช่นกัน จึงสันนิษฐานว่าพระองค์อาจจะรู้ด้วยญาณ ว่าท่านและหลวงพ่อปานคงถึงเวลาที่จะละสังขารแล้ว

บุญญาภินิหารของหลวง พ่อ

หลวงพ่อปานท่านเป็นผู้มี ความเมตตา ปรานี และมีวาจาสิทธิ์ จนเป็นที่ยำเกรงแก่ประชาชนทั่วไป บรรดาลูกศิษย์ของท่านจะพยายามปฏิบัติตนอยู่ในคุณงามความดี เพราะกลัวหลวงพ่อว่าตนไม่ดี แล้วจะไม่ดีตามวาจาสิทธิ์ของท่าน กอปรกับท่านมีเจโตปริยญาณ และอนาคตังสญาณ

อาทิเช่นครั้งหนึ่งท่านเตรียมจะออกเดิน ธุดงค์ พร้อมกับพระภิกษุสามเณรจำนวนมากจากวัดต่างๆ พระทั้งหลายจะต้องเข้ามาหาหลวงพ่อ เพื่อรายงานตัวก่อน ถ้าท่านไม่ให้ไปก็ไปไม่ได้ ในครั้งนั้นมีพระอยู่องค์หนึ่ง ชื่อพระผิว หลวงพ่อได้เรียกเข้ามาหา และบอกว่า

“คุณเก็บบาตร เก็บกลด กลับวัดไปเถอะ”

พระผิวเสียใจเป็นอย่างยิ่งถึงกับร้องไห้ หลวงพ่อปานจึงกล่าวกับพระผิวว่า

“อย่าเสียใจไปเลยคุณ กลับไปวัดเถอะ เดินทางไปกับหลวงพ่อมันลำบากมาก องค์อื่นท่านแข็งแรง หลวงพ่อกลัวคุณจะลำบากจึงให้กลับไปก่อน”

พระผิวจึงจำใจกลับ หลังจากพระผิวกลับมาถึงวัดได้ ๒ วันเท่านั้นท่านก็เป็นไข้ทรพิษ และมรณภาพลงในที่สุด การเดินธุดงค์นั้น ท่านมักจะให้ศิษย์ออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อนทุกคราว แต่พอถึงจุดนัดหมาย หลวงพ่อจะไปคอยอยู่ข้างหน้าก่อนเสมอ

หลวงพ่อปานท่านเป็นพระ ที่เคร่งครัดเอาจริงเอาจัง มีจิตใจกล้าหาญ ผิดว่าผิด ถูกว่าถูก ไม่มีการเอนเอียงไปทางใดเลย การทำกรรมฐาน ท่านให้นั่งพิจารณาธาตุ เพ่งสิ่งต่างๆ เช่น ไฟเทียน น้ำในบาตร ปฐวีธาตุ จนพลังใจแก่กล้ามั่นคง และฝึกสติโดยการให้เดินจงกรม เมื่อฝึกจิตจนได้ที่แล้วท่านจึงจะสอนวิชาเคล็ดลับต่างๆ ให้ มีทั้งอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม และวิชาไสยศาสตร์ต่างๆ ที่เรียนนี้ก็เพื่อรู้ เรียนไว้เพื่อแก้ และเพื่อป้องกันตัว (เวลาออกธุดงค์) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในสมัยนั้น ในการไปเดินธุดงค์คราวหนึ่ง ท่านไปได้หินเขียววิเศษ เป็นวัตถุสีเขียว แวววาวมาก โตขนาดเมล็ดถั่วดำ และข้างๆ หินนี้ มีเต่าหินที่สลักด้วยหินทรายสีออกน้ำตาลแดงเล็กน้อย หลวงพ่อปานท่านนิมิตเห็นสิ่งนี้ก่อนท่านจะออกธุดงค์

ของวิเศษนั้น หลวงพ่อปานไม่เคยเปิดเผยกับใคร ท่านนำไปไว้ยังศาลที่ปลูกไว้ภายในบริเวณวัด ที่ศาลนี้มีพระพุทธรูปศิลาศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย ใครไปมาผ่านศาลก็จะกราบไหว้พระพุทธรูป และจะเห็นเต่าศิลาตัวนั้น แต่บางคราวเต่านั้นก็หายไป และก็น่าแปลกที่หลวงพ่อปานก็จะไม่อยู่ด้วยทุกครั้ง ทุกคนเข้าใจว่าท่านไปธุดงค์ในป่า แต่ทำไมจะต้องนำเต่าหินนั้นไปด้วยเพราะทั้งหนัก และต้องลำบากดูแลรักษา

เรื่องนี้ใครๆ ไม่สนใจ แต่สามเณรน้อยองค์หนึ่งสนใจ และคอยแอบดูอยู่ ว่าเต่าหายไปไหนใครพามันไป ทั้งๆ ที่หนักมาก สามเณรน้อยนี้มีความพยายามมาก ท่านคอยซ่อนตัวแอบดูเต่าหินนั้น ซึ่งบัดนี้มีดวงตาเป็นหินสีเขียว โดยหลวงพ่อปานท่านลองใส่เข้าไปตรงดวงตาเต่าก็เข้ากันได้พอดี อย่างไรก็ตามความพยายามของสามเณร หลวงพ่อท่านก็ทราบโดยตลอด

ต่อมาเป็นวันข้างแรม เดือนดับ สามเณรก็ยังมาคอยดูอยู่เช่นเคย ทันใดนั้น! เณรน้อยก็ตกตะลึงตัวชาอยู่กับที่ เพราะเต่าหินกำลังเคลื่อนไหวคลานออกจากศาล และลอยไปในอากาศ เรียกว่าเต่าหินเหาะก็ไม่ผิด สามเณรพยายามข่มตาไม่ยอมหลับนอน ทนไว้เพื่อจะได้ดู ตอนเต่าหินกลับมา เวลาล่วงเลยไปจนถึงประมาณตี ๔ เณรน้อยก็ต้องอัศจรรย์ใจอีกครั้ง เพราะเต่าหินนั้นได้เหาะกลับมา และคลานกลับไปอยู่ที่เดิม สามเณรนั้นเดินไปสำรวจเต่าหินดู ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ เป็นหินที่เขาสลักมาจากหินทราย ถ้าไม่ใช่ของกายสิทธิ์จะคลานแล้วลอยไปในอากาศได้อย่างไร หลวงพ่อปานท่านคอยดูความมานะ อดทนตลอดจนปัญญาไหวพริบของสามเณรน้อยลูกศิษย์ท่านอยู่เงียบๆ จากการสังเกตเฝ้าดู เณรน้อยพบว่าเต่าหินนี้จะเหาะไป และกลับตอนตี ๔ ทุกๆ วันแรม ๑๕ ค่ำ

ในที่สุดเณรน้อยก็ตัดสิน ใจ ท่านครองผ้าอย่างทะมัดทะแมง เตรียมตัวจะไปผจญภัยกับเต่าหิน เมื่อถึงเวลา เต่าหินก็ค่อยๆ คลานลงมาจากศาล สามเณรก็ปราดออกจากที่ซ่อน กระโดดเกาะเต่าหินนั้นไว้ เมื่อเต่าหินค่อยๆ ลอยขึ้นสามเณรก็กอดไว้แน่นด้วยใจระทึกเพราะเกรงจะตกลงไป ในที่สุดก็มาถึงเกาะแห่งหนึ่ง ไม่รู้ว่าเป็นสถานที่แห่งใด มองไปรอบๆ ตัวพบกับแสงสว่างเย็นตาน่ารื่นรมย์ เต่าหินค่อยๆ ลอยต่ำลง เมื่อถึงพื้นดินก็ตรงไปยังป่าไผ่ กินหน่อไผ่อย่างไม่รู้จักอิ่ม สามเณรก็ไม่กล้าลงจากหลังเต่า เพราะเกรงถูกทิ้งไว้ ได้แต่รั้งหักหน่อไม้มาได้หน่อหนึ่ง เพื่อเป็นสักขีพยานว่า ไม่ได้ฝันไป ได้มาอยู่บนเกาะนี้จริงๆ

เต่าหินนั้นกินอยู่พัก หนึ่ง ก็เหาะกลับแต่ขณะที่เดินทางนั้น สามเณรไม่สามารถกำหนดจดจำทิศทางได้เลย เมื่อกลับมาที่วัด เต่าหินก็กลับไปประจำที่ ส่วนเณรน้อยก็ถือหน่อไม้เข้ากุฏิไป หลวงพ่อปานท่านพิจารณาแล้ว เห็นว่าเรื่องเต่าหินวิเศษนี้จะไม่เป็นความลับอีกต่อไป ท่านจึงได้นำดวงตาอันเป็นหินสีเขียวสดใสนั้นออกเสีย เพื่อเต่าศิลาจะได้ไม่สามารถเหาะไปเที่ยวได้อีก (ท่านคงพิจารณาแล้วว่า ถ้าเรื่องถูกแพร่งพรายออกไปคงจะเกิดความวุ่นวาย และสามเณรนั้นคงจะทดลองเกาะเต่าไปเที่ยวอีก และอาจเกิดอันตราย กระผมเข้าใจว่า หลวงพ่อท่านสามารถควบคุมเต่าได้ และสามารถเกาะหลังเต่าไปในที่ต่างๆ ได้ ตามที่ท่านปรารถนา) ปัจจุบันเต่าหินตัวนี้ ยังปรากฏอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดใกล้เคียง (เรื่องเต่าหินเหาะได้นี้ ท่านพระครูโกศล ปาสาธิโก ศิษย์ของหลวงพ่อปาน ซึ่งเป็นผู้ทรงอภิญญาเช่นเดียวกัน เป็นผู้เล่าให้ฟัง)

เนื่องจากหลวงพ่อปานฯ เป็นผู้ที่ชอบเรียนรู้อยู่เสมอ ท่านจึงชอบธุดงค์ไปในที่ต่างๆ บางครั้งท่านก็ไปองค์เดียว คราวหนึ่งท่านเดินธุดงค์ไปทางจังหวัดปราจีนบุรี ไปถึงวัดโพธิ์ศรี เมื่อไปถึงวัด ท่านเจ้าอาวาสกำลังขึงกลองเพลอยู่ ท่านเห็นดังนั้นก็ลงมือช่วยเหลือทันที พอเสร็จเรียบร้อย สมภารท่านก็นิมนต์หลวงพ่อปานขึ้นไปคุยกันบนกุฏิ ขณะที่คุยกันอยู่มือของท่านสมภารก็ปั้นลูกดินกลมๆ อยู่ในมือ สักครู่หนึ่งท่านสมภารก็โยนลูกดินนั้นขึ้นไปบนอากาศ กลายเป็นม้าตัวหนึ่ง กับตุ๊กตาอีกตัวหนึ่งไล่จับเหยี่ยวอยู่บนท้องฟ้า

หลวงพ่อปานเห็นดังนั้นท่านก็หัวเราะชอบใจ แต่ไม่ได้พูดอะไร เมื่อท่านลงจากกุฏิของท่านสมภารแล้ว ท่านได้พูดกับพระในวัดนั้นว่า “โดนลองดีเข้าให้แล้ว” พอพูดจบท่านก็หยิบผ้าสังฆาฏิที่พาดบ่า ท่านอยู่ นำมาม้วนแล้วโยนขึ้นไปในอากาศ ปรากฏว่าผ้านั้นได้กลับกลายเป็นกระต่ายหลายตัว วิ่งอยู่ในลานวัด ใครจะจับก็จับไม่ได้ เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น หลังจากนั้นหลวงพ่อปานท่านจะออกเดินธุดงค์ ท่านมักจะมุ่งหน้าไปทาง อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรีเสมอ เพราะในย่านนั้นเต็มไปด้วยพระอาจารย์ผู้มีวิชาอาคม ท่านปรารถนาจะเรียนในสิ่งที่ท่านยังไม่รู้ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น

ท่านพระครูโกศล ปาสาธิโก ท่านเล่าให้ฟังว่า “หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน ท่านเก่งเรื่องจิต ท่านแสดงฤทธิ์ได้มากมาย ท่านได้เคยเล่าถึงสรรพคุณของเต่าวิเศษที่พาท่านไปในเมืองลับแล ซึ่งเป็นภพซ้อนภพกันอยู่นี่ ได้ไปพบกับสิ่งอัศจรรย์หลายอย่าง พอเป็นคติเตือนใจ ครั้นเมื่อกลับมาจากการท่องเที่ยวครั้งนั้น หลวงพ่อปานได้เคร่งครัดการปฏิบัติกรรมฐานของท่านอย่างหนัก โดยไม่ปล่อยกาลเวลาให้ผ่านพ้นไป ท่านตระหนักดีว่า ชีวิตของท่านนั้นสั้นนัก ควรจะเร่งรีบภาวนา ทำจิตให้มีกำลัง มีสมาธิ และมีปัญญาติดตัวไว้ อุบายธรรมของท่าน ก็คือการพิจารณา สภาวธรรมความจริงแห่งวัฏฏะ เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความทุกข์ความวุ่นวาย เกิดเพราะจิตเข้าไปยึดมั่น จิตปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา การระงับดับเหตุทั้งปวง ย่อมต้องระงับดับที่ใจ เพราะใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธาน ท่านมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติ เพื่อพระนิพพานเป็นที่หมาย เพื่อให้พ้นจากวัฏฏะอันหมุนวนไม่รู้จักจบ”

ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้น ประชาชนที่มีความเคารพบูชาหลวงพ่อ ได้พร้อมใจกันหล่อรูปท่านขึ้นมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่าองค์จริง เพื่อไว้เป็นที่เคารพบูชา เพราะหลวงพ่อไม่ค่อยได้อยู่วัด ท่านมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นประจำ จะได้กราบรูปหล่อแทนตัวท่าน แต่เมื่อหล่อรูปแล้วท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด ท่านมักจะปลีกตัวไปจำวัดที่พระปฐมเป็นประจำ การที่ท่านไม่อยากเข้าวัดของท่านนั้น อาจเป็นเพราะท่านรู้ล่วงหน้าว่าถึงคราวจะหมดอายุขัยแล้ว ท่านจึงต้องการความสงบในการพิจารณาธรรม แต่ท่านก็ไม่กล้าพูดกับใครๆ เมื่อญาติโยมอ้อนวอนมากๆ เข้า ท่านก็บ่ายเบี่ยงไปว่า “เข้าไปไม่ได้ อ้ายดำมันอยู่ ขืนเข้าไปอ้ายดำมันจะเอาตาย” คำว่า “อ้ายดำ” หมายถึงรูปหล่อของท่านนั่นเอง ปัจจุบันนี้รูปหล่อของท่านก็ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาส (วัดคลองด่าน หรือวัดบางเหี้ย) คืออยู่ที่กุฏิของหลวงพ่อซึ่งได้จัดสร้างขึ้นใหม่ และปรากฏความศักดิ์สิทธิ์มากมาย น้ำมนต์ที่หน้ารูปหล่อของท่านก็มีคนนำไปดื่ม และทองคำเปลวที่รูปหล่อก็มีคนนำไปปิดที่หน้าผาก เพื่อรักษาโรคได้ผลมาแล้วมากมาย

* ข้อมูลจากเว็บประตูธรรม คลิ๊กที่นี่

วิธีการดูเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ๒

ในบรรดา เครื่องรางของขลัง ที่ บุรุษ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ใฝ่ฝัน และอยากได้มาเพื่อเป็นเครื่องป้องกันตัวและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ในความเข็มขลังแล้วละก็ คือ เขี้ยวเสือ ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ซึ่งจัดได้ว่า เป็นอันดับหนึ่ง ของเมืองไทย ดังนั่นเรามารู้จักท่าน และวิธีการดูเสือของท่านดีกว่า เพื่อเป็นวิทยาทาน อาจจะไม่ชี้ขาด แต่ก็เป็นแนวทางได้บ้างไม่มากก็น้อยครับ

เสือหลวงพ่อปาน วัดมงคลสุทธาวาส (บางเหี้ย) สุดยอดเครื่องรางแห่งสยามประเทศ

ยุค สมัยของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย นั้น อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2411-2453 เป็นช่วงที่ท่านออกธุดงค์ เป็นอาจารย์สอนวิปัสสนา รวมถึงเป็นเจ้าอาวาสวัดบางเหี้ยด้วยครับ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระครูพิพัฒนนิโรธกิจ" จวบจนกระทั่งเข้าสู่วัยชรา และถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2453 (รวมสิริอายุประมาณ 75 - 80 ปี)

หลวง พ่อปาน วัดบางเหี้ยนั้นท่านเป็นคณาจารย์ ยุคเก่าสมัยโบราณ ถ้าผมจำไม่ผิดหลวงปู่สี วัดเข้าถ้ำบุญนาค เคยกล่าวถึงท่านไปเมื่อตอน มีคนถามท่านว่ารู้จักหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคไหม? ท่านตอบว่ารู้จักแต่หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย และกล่าวว่า "หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย นั่งเรือไม่ต้องแจวเรือ เรือแล่นได้เอง" หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย นั้นท่านมีชื่อเสียง ในเรื่องการสร้างตะกรุด ผ้ายันต์ต่างๆ รวมทั้งเครื่องรางประเภทอื่นๆมากหลายอย่าง ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยากมาก ใครมีต่างหวงแหนกันทุกคน การหาของแท้ๆ และทันยุคนั้น หาได้ยากเต็มทีครับ เพราะเครื่องรางที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ก็ขาดการจดบันทึกไว้ ทำให้มีผู้รู้จริงยาก และเครื่องรางของท่าน บางครั้งผู้ที่ได้ไว้ในครอบครองก็ไม่ทราบว่าเป้นของคณาจารย์ท่านใด บางครั้งจะเป็นของหลวงพ่อนก วัดสังกะสี ลูกศิษย์ ซึ่งขลังเหมือนกัน คนถูกยิงตกเรือไม่เข้ามาแล้วเหมือนกันครับ

ดังนั้น เครื่องรางที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของสำนักนี้ และถือเป็นสุดยอดเครื่องรางที่มีค่าบูชาสูงในอันดับต้นๆในบรรดาเครื่องราง ของขลัง ของพระเกจิอาจารย์ในยุคอดีต และปัจจุบัน นั่นคือ รูปเสือลอยองค์ ที่แกะมาจากเขี้ยวเสือจริงๆ ทั้งเต็มเขี้ยวบ้าง ครึ่งเขี้ยวบ้าง มีขนาดเล็ก ใหญ่ต่างๆกัน ตามแต่ลักษณะของเขี้ยวเสือที่ได้ชาวบ้านได้มา ฝีมือการแกะเป็นลักษณะของช่างฝีมือท้องถิ่นแท้ๆ แกะให้ท่านปลุกเสกเรื่อยๆ แลดูเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความขลัง และดูน่าครั่นคร้าม แลดูมีตบะมหาอำนาจสูงมาก ไม่เชื่อถ้าท่านมีลองนำมามองจ้องเสือดูซิครับ แลดูน่าเลื่อมใส ศรัทธามากครับ

มีเรื่องเล่ากันว่า การปลุกเสกเสือของหลวงพ่อปานนั้น ท่านจะต้องมีการเรียกธาตุ 4 คือ “นะ มะ พะ ทะ” เรียก รูป เรียกนาม ปลุกเสกจนกระทั่ง เสือนั้นเคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิตจริงๆทีเดียวเชียว กำหนดอุคหนิมิต ให้เครื่องรางรูปเสือนั้นมีชีวิต โดยปลุกด้วยคาถาเฉพาะ หนึ่งในบทพระคาถาที่เคยได้รับทราบมา คือ คาถาพยัคคัง ฯ เล่ากันว่า เมื่อท่านปลุกเสกเสร็จขณะนั่งเรือไปท่านจะนำเสือนั้นเทลงคลอง จากนั้นท่านจะนำชิ้นหมูมาล่อข้างเรือ และบริกรรมคาถา สักพักเสือจะโดดขึ้นมาติดชิ้นเนื้อหมูโดยทันที เป็นอันว่าเรียบร้อยครับ แจกลูกศิษย์ลูกหาได้

* ข้อมูลจาก โดย : อานนท์ พี่ชัยวิทย์ คลิ๊กที่นี่

วิธีการดูเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ๑

เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ใครที่ชอบเครื่องลางของขลังต่างต้องการครอบครอง ปัจจุบันมีคนที่แอบอ้างยัด อาจารย์กันเยอะ การสังเกตุเขี้ยวเสือให้สังเกตุที่อายุของเขี้ยวเป็นสำคัญเขี้ยวที่มีอายุกว่า 100 ปี ต้องเป็นเขี้ยวที่มีความเก่าความฉ่ำของเนื้อเขี้ยวสีต้องเหลือง อร่าม ใส เหมือนเทียนไข เสี้ยนเขี้ยวจะตรงตามความยาวของเขี้ยว เขี้ยวหมี จะมีสีขาวไม่เหลืองเหมือนเขี้ยวเสือ แต่ก็มีการเอาเขี้ยวใหม่ๆ ไปทอดในน้ำมันให้เหมือนเขี้ยวเก่าต้องระวังให้ดี ส่วนการสังเกตุว่าเป็นเขี้ยวเสือของหลวงพ่อปานหรือไม่ ??? ให้สังเกตุด้วยการอ่านหนังสือครับ

ขอแนะนำหนังสือ เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ติสสโร (ของคุณคีโท ถั่วทอง) ครับ เพราะผู้เขียนท่านนนี้ ได้ทำการรวบรวม ภาพเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ภาพเขี้ยวเสือหลวงตาสาย (ศิษย์หลวงพ่อปาน) ภาพเขี้ยวเสือของหลวงพ่อนกวัดสังกะสี (ศิษย์หลวงพ่อปาน) และยังมีวัตถุมงคลต่างๆ ของวัดมงคลโคธาวาส ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อปานยังอยู่ ไล่รุ่นมาถึงยุคปัจจุบันเลยครับ แต่ผมหาหนังสือเล่มนี้ ที่ร้านหนังสือและสำนักพิพ์แล้วหมดไปนานแล้วครับ ใครมีช่วยแบ่งให้หน่อยนะครับจะเป็นพระคุณอย่างสูง ส่วนเล่มอื่นๆนั้น ไม่แนะนำครับพราะมีร้านพระที่ปากน้ำสมุทรปราการ บอกว่ามีการยัดอาจารย์ครับ เอาเขี้ยวเสือหลวงตาสายยัดเป็น ของหลวงพ่อปานเยอะมากครับ เรื่องยันต์ก็เหมือนกัน มีการเอาเขี้ยวไปแกะ แล้วมาลงยันต์กันเองแล้ว บ้างก็ฝากเข้าพิธีของวัด บ้างก็ขายกันเอง บางทีอาจเจอ เขี้ยวแท้ ฝีมือสวย แต่ยันต์ปลอมนะคร้าบ..

ส่วนเขี้ยวเสือนั้น เตี่ยผม (เกิด 2475 เสียชีวิต 2542 อายุ67ปี)ท่านเล่าว่า ได้รับการเล่าต่อมาว่า สมัยก่อนพระที่ลงเขี้ยวเสือมีหลายองค์ มีหลวงพ่อปาน หลวงพ่อเรือน(เพื่อนหลวงพ่อปาน) หลวงพ่อทอง(เจ้าอาวาสวัดบางเหี้ย แต่คนละองค์กับหลวงปู่ทองวัดราชโยธานะครับ)หลวงพ่ออิ่ม แต่สมัยนี้เหมารวมว่าเขี้ยวเสือเป็นของหลวงพ่อปานหมด เพราะ ลายมือการลงยันต์ก็หวัดคล้ายๆกันน่ะ แยกไม่ออกหรอก รุ่นต่อมาก็คือเสือหลวงตาสาย องค์นี้เตี่ยผมทันและสนิทด้วย เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปานหลวงตาสายลงเสือไว้เยอะเหมือนกัน คนที่ไม่มีเสือหลวงพ่อปาน ก็ใช้เสือหลวงตาสายได้มีคนบางปูเก่าโดนยิงกลางหลัง เสื้อขาดเป็นรูแต่กระสุนไม่เข้า เพราะแกแขวนเสือหลวงตาสายตัวเดียวเท่านั้น ปัจจุบันเขี้ยวเสือทีเห็นลงในหนังสือพระที่รวบรวมเขี้ยวเสือ เป็นของหลวงตาสายทั้งนั้น แต่ยัดอาจารย์เป็นของหลวงพ่อปานไปหมด แต่มีหนังสือ เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ของคุณคีโท ถั่วทอง ลงรูปเขี้ยวหลวงพ่อปานและของหลวงตาสายให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน


* ข้อมูลจากคุณ เด็กคลองด่าน คลิ๊กที่นี่

เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน คลองด่าน



เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน (พระครูพิพัฒนิโรธกิจ) หรือหลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส(บางเหี้ย)ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

ดว่าเป็นเครื่องรางของขลัง ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ยุคโบราณจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ราคาอยู่ในระดับ หลายหมื่น จนกระทั่งถึงระดับแสนปลายๆ หลักการพิจารณาเขี้ยวเสือหลวงพ่อ ปาน เบื้องต้นนั้น ให้ยึดหลักดังต่อไปนี้

1 ดูความเก่าของเขี้ยวให้ออก เขี้ยวเก่าจะมีความแห้งได้อายุ โดยเฉพาะตามซอกลึกๆที่ไม่ถูกสัมผัส ให้เน้นดูง่ายไว้ก่อน ประเภทเห็นแล้วต้องเก่าจริง เพราะอายุถึงหนึ่งร้อยปี แล้วนะครับ

2. จดจำลักษณะของการจารยันต์ที่ใต้ฐาน กับตามบริเวณจุดต่างๆ ต้องจำลายมือ น้ำหนัก และลักษณะของยันต์ให้ออก

3. ควรจะปรึกษาผู้รู้ ผู้ชำนาญ โดยตรงจะดีที่สุด เช่น คุณพยัพ คำพันธุ์ ,คุณต้น แจ่มมณี และอีกหลายท่านที่ชำนาญการในเรื่องเครื่องรางของขลังครับ ลักษณะเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของ เสือหลวงพ่อปานคือ

1. หูหนู - หูเหมือนกับหนู

2. ตาลูกเต๋า - นัยน์ตา เหมือนกับจุดในลูกเต๋า

3. เขี้ยวโปร่งฟ้า - เขี้ยวกลวงทะลุ เรียกว่าเขี้ยวโปร่งฟ้า หากเขี้ยวเล็กๆ บางทีก็ตัน ก็มีครับ

4. ยันต์กอหญ้า - ลักษณะของยันต์ คล้าย กอหญ้า

5. เสือหน้าแมว - ลักษณะของใบหน้าของเสือมีลักษณะคล้ายแมวมากกว่าเสือ

สมเด็จปรกโพธิ์ ๒๔ วัดทับคล้อ




ชื่อพระ : พระพิมพ์ปรกโพธิ์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ วัดทับคล้อ พิจิตร

ผู้จัดสร้าง : พระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ)

ประวัติการจัดสร้าง : จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ) ได้มาอยู่ที่สวนพระโพธิสัตว์ (ปัจจุบันคือวัดทับคล้อ) มีการจัดสร้างองค์พระทั้ง เนื้อดินและเนื้อว่าน โดยมีพุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์สี่เหลี่ยมแบบพระสมเด็จ ด้านหน้าองค์พระปฏิมาประทับนั่งปางสมาธิใต้ซุ้มโพธิ์ ๑๒ ใบ บนฐาน ๓ ชั้น ภายในซุ้มครอบแก้ว ด้านหลังองค์พระเป็นตัวหนังสือห้าแถว ปรากฏข้อความว่า สวนพระโพธิสัตว์ ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ๒๕๒๔

* หมายเหตุ : รูปพระเครื่องที่โชว์เป็นพระเนื้อดินเผา ซึ่งนอกจากนี้แล้วยังมีการจัดสร้างพระเนื้อว่านด้วย

* ข้อมูลจากเว็บวัดทับคล้อดอทคอท http://amulet.watthapklo.com