วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

วิธีการดูเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ๕

บทความมีประโยชน์ เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ในมุมมองของคุณเพชร ท่าพระจันทร์

เครื่องรางของขลัง ชนิดหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจใคร่รู้อย่างยิ่งของนักนิยมสะสมพระเครื่อง รางขลังตั้งแต่ในอดีตจนถึงทุกวันนี้ก็คือ “เสือ” ของ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า วัดบางเหี้ย อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ

ภาพ "เสือ" ที่เห็นนี้ เป็นชิ้นสุดยอดที่ได้คัดเลือกมาให้ชม ประเภท เห็นกันเป็นครั้งแรก ตามนโยบายที่วางไว้ และสำคัญที่สุดคือ เป็น "เสือแท้" ในรอบหลายปีที่วนเข้ามาให้นักเล่นได้มีสิทธิ์ครอบครองกัน

"เสือ" หลวงพ่อปาน ตัวนี้ ครั้งแรกที่ได้เห็น ยังอยู่ในมือนักนิยมพระท่านหนึ่ง ซึ่งได้เลี่ยมจับขอบทองเอาไว้ ทำให้เห็นทรวดทรงตัวเสือไม่ค่อยถนัดนัก ภายหลังเมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันแล้ว เจ้าของใหม่ได้แกะทองที่เลี่ยมเอาไว้ออก เพื่อเอาท่านใส่ตลับทองคำ ตอนนี้เองที่ทำให้เห็นตัวจริงองค์จริงของท่าน ซึ่งทำไมท่านจึงมีลักษณะดังนั้น...

เสือ" ตัวนี้ เป็นเสือที่ถูกแกะขึ้น ภายใต้ศัพท์ที่นักเล่นเรียกหา คือ เสือเขี้ยวซีก ก็ด้วยเหตุที่ "เขี้ยวเสือ" เป็นวัตถุอาถรรพณ์ และเสือจริงสมัยก่อน รวมทั้งสมัยนี้เป็นที่รู้กันว่าหาได้ยากยิ่ง

เสือรุ่นแรก จึงมักใช้วัสดุเท่าที่มี ซึ่งจำกัดมาก หาได้เท่าไรก็ให้หลวงพ่อลงจาร หรือทำให้เท่านั้น การแกะเสือยุคแรกๆ ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ตัวหลวงพ่อ เมื่อได้เขี้ยวเสือมา จึงมักแบ่งเขี้ยวออกเป็นสองส่วน แล้วจึงให้ช่างแกะเป็นตัวเสือให้

อีกกรณีหนึ่งคือ ประเภทได้เขี้ยวเสือมา แต่เป็นเขี้ยวชำรุด หรือบิ่นแตก ด้วยเชื่อว่าตัวเสือเจ้าของเขี้ยวค่อนข้างดุ ขบกัดฉีกกินเหยื่อต่างๆ มานับไม่ถ้วน หรืออาจกัดทำร้ายกันเอง ทำให้เขี้ยวเสือหักกร่อน ข้างหนึ่งดี อีกข้างบิ่น สูงยาวไม่เท่ากัน เมื่อถึงมือช่าง จึงมักถูกแต่งทิ้ง ด้านที่อาจบิ่น หรือชำรุดออกไป ดังนั้นในยุคแรกๆ ของการแกะเสือ จึงมักเจอ เสือเขี้ยวซีก กันบ่อยครั้ง

ต่อมาเมื่อ เสือหลวงพ่อปาน เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง บรรดาเจ้าสัว นายหัว คุณท่าน ต่างก็จ้างคนสืบหาเขี้ยวเสือที่ค่อนข้างใหญ่และงาม นำมาให้ช่างแกะ บรรดาลูกศิษย์วัดต่างส่งข่าวหาเขี้ยวกัน เพื่อนำมาแกะเป็นวัตถุมงคล รูปเสือ กันอย่างกว้างขวาง จนมีเรื่องเล่าว่า ค่าตัวของเสือหลวงพ่อปานสมัยนั้น (เมื่อร้อยปีมาแล้ว) มีราคาตั้งแต่ ๑ บาท ๒ บาท จนถึง ๓ บาท นั่นคือราคาที่แพงที่สุด แต่ก็มีเรื่องเล่า (อีก) ที่ว่า มีคหบดีท่านหนึ่งให้ราคาเสือถึง ๕ บาท เพื่อให้ช่างหาเขี้ยวและนำมาแกะเป็นตัวเสือ

ดังนั้น "เสือ" เมื่อก่อนจะมาถึงมือของ หลวงพ่อปาน ก็มีราคาค่าตัวสูงอยู่แล้ว เมื่อท่านเมตตา ประสิทธิประสาท ปลุกเสกคาถาอาคมให้ และมอบเสือให้ศิษย์ รวมทั้งผู้เคารพศรัทธาในตัวท่านแล้ว เสือหลวงพ่อปาน จึงมีราคาค่านิยมสูงมาก มาตั้งแต่สมัยนั้น เรื่องที่จะได้ "เสือ" ราคาถูกๆ จึงไม่มีมาตั้งแต่สมัยเก่าก่อนแล้ว

มาถึงทุกวันนี้ เมื่อต่างรู้ว่าใครมี เสือหลวงพ่อปาน ราคาค่าตัวจึงถูกประมูล และผู้ที่มีไว้ครอบครองส่วนใหญ่ต้องให้ราคาค่อนข้างสูงกว่าปกติทั่วไป จึงจะได้สิทธิครอบครองเสือจริง

ส่วนที่ได้ราคาถูก หรือมีด้วยเสือเช่นกัน มักเป็น เสือหิว เสือโหย เสียเป็นส่วนใหญ่ เสือลักษณะนี้ แค่ได้ยินชื่อ ท่านทั้งหลายก็คงไม่คิดอยากจะเอาไว้ใกล้ตัว ลักษณะเป็นอย่างไร เดี๋ยวว่ากันต่อ

ค่าเขี้ยวเสือ ค่าโกลนขึ้นรูปเสือ แม้มีราคามากแล้ว แต่ขั้นตอนการได้เสือยุ่งยากกว่ามาก ด้วยท่านกว่าจะทำเสือ ลงจารเสือ ปลุกเสกสำเร็จ จิปาถะ ฯลฯ ก็ต้องผ่านพิธีกรรมหลายขั้นตอน

เสือหลวงพ่อปาน ตัวที่ท่านกำลังเห็นอยู่นี้ เมื่อจำเป็นจะต้องใช้เขี้ยวซีกแล้ว ทราบว่าต้องให้ช่างคนหนึ่งแกะสลักให้ ในบรรดาช่างที่มีฝีมือ อาทิ ช่างฟัก ช่างชม ช่างนิล ช่างมาก และช่างมา อาจจะเป็นคนเดียวกันก็ได้

ช่างแกะเขี้ยวซีก ผู้มีความเก่งกล้าสามารถมากท่านหนึ่ง แม้จะจำชื่อท่านไม่ได้ แต่จำฝีมือท่านได้แม่น ด้วยส่วนใหญ่ท่านจะแกะแบบ เสือนิยม นั่งหุบปาก ตาเนื้อ รวมความแล้วเป็นแบบ เสือหน้าแมวแต่ดุ ด้วยเนื้อที่น้อย จำกัดลักษณะ จึงมักทิ้งเนื้อที่ใต้ฐานเสือนั่งเอาไว้ เพราะไม่มีเนื้อที่เหลือไว้ให้หลวงพ่อลงเหล็กจารอักขระยันต์ใต้ฐานล่างได้ แต่เพราะความเป็นช่างผู้มากด้วยประสบการณ์ และเป็นเรื่องต้องทราบ ด้วยหลวงพ่อต้องลงอักขระเลขยันต์ในการสร้างเสือขึ้นมาทุกครั้ง นายช่างท่านนี้จึงมักจะเหลือพื้นที่ใต้เสือนั่ง ฝั่งซ้าย-ขวาเอาไว้ เพื่อให้หลวงพ่อมีเนื้อที่ลงอักขระเลขยันต์ได้ตามสูตร

ดังนั้น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ฝีมือชั้นเชิงช่าง และสิ่งที่เหลือ ลายมือหลวงพ่อ ในเสือหลวงพ่อปาน จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเก็บรักษาดูแลเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องสูตรจารตัว “เสือ” ของหลวงพ่อปาน ตามสูตรท่านลงแบบ ยันต์ตรีนิสิงเห คือตัวเลขต่างๆ ที่เห็นในภาพ รวมทั้ง ยันต์กอหญ้า ยันต์ฤษีเลื่องลือ

เสือหลวงพ่อปาน ที่เห็นในภาพนี้ เป็น ยันต์นะปถมัง ยันต์สูตรนี้เมื่อเรียนจบแล้ว ยังต้องรู้ว่า ลงแล้วดีอย่างไร ในหนังสือของ อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เขียนเรื่องนี้ไว้ว่า

ในบุราณคัมภีร์ ท่านได้วางแบบนะอักขรวิเศษต่างๆ ไว้มาก ดังที่ท่านเรียกกันว่า นะ ๑๐๘ แต่แท้ที่จริง บรรดานะอักขรวิเศษเหล่านั้น ท่านแยกออกมาจากสูตรปถมังทั้งนั้น เป็นแต่ผิดเพี้ยนรูปกันไป และคาถาที่ปลุกเสก ก็ต่างออกไป ตามแต่ความมุ่งหมายของชื่อนะเหล่านั้น เช่น เป็นนะทางคงกระพัน ถ้าเป็นเมตตา ก็เสกด้วยคาถาบทที่ว่าด้วยเมตตา

แต่ปัญหาสำคัญในการที่จะเขียนนะอักขรวิเศษเหล่านั้น จำเป็นจะต้องเขียนขึ้นจากสูตรปถมังพินธุทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนะเช่นไร ชนิดใดก็ตาม การลงเบื้องแรก จำต้องเริ่มจาก พินธุ ทัณฑะ เภทะ อังกุ สิระ เป็นลำดับกันไป และเมื่อสำเร็จเป็นรูปนะแล้ว จึงค่อยปลุกเสกตามคาถา ที่พึงปรารถนาจะให้เป็นไป เพราะเหตุที่สูตรปถมังพินธุ เป็นรากเง่าใหญ่ของการลงนะทั้งปวง จึงได้มีคำพังเพยของปราชญ์โบราณท่านกล่าวไว้ว่า “ปถมังพินธุ ผู้ใดได้เรียนแล้วนะมิต้องพักขอก็มาเอง”

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมเสือหลวงพ่อปาน จึงมีค่านิยมสูงนัก

* ข้อมูลจาก คุณเพชร ท่าพระจันทร์ คลิ๊กที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น